ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน 

กิจวัตรเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ

          ทุกครั้งที่ใจแวบออกไปนอกกาย ใจย่อมไม่อาจควบคุมตัวเองได้ เพราะตาก็จะฉุดให้ไปดูรูปที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง หูก็จะฉุดให้ไปฟังเสียง จมูกก็จะฉุดให้ไปดมกลิ่น ลิ้นก็จะฉุดให้ไปลิ้มรส กายก็ฉุดให้ไปสัมผัสสิ่งของ และใจก็จะฉุดไปคิดเรื่องที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง จึงมีทั้งรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส-เรื่องราวที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจแย่งกันมากระทบกระทั่งใจ ใจจึงขุ่น มีสภาพล้มลุกคลุกคลาน คือ ยินดีเมื่อได้ ยินร้ายเมื่อเสีย ต่อสิ่งที่มากระทบ และคร่ำครวญเมื่อสิ่งที่ตนพอใจต้องเปลี่ยนแปรผันเป็นอื่นไปตามกฎอนิจจัง คือ อะไรก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องดับไป เพราะแม้แต่ตัวเราเองยังต้องแก่ เจ็บ ตาย
          ขอเพียงไม่ดูเบา ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเพิ่มพูนสติ ไม่ยอมว่างเว้น ใจที่เคยแวบหนีออกเที่ยวก็จะกลับเชื่องลงอยู่กลางกายนานขึ้น แล้วจะรู้สึกเองว่าใจสดชื่นขึ้น ผ่องใสขึ้นไปตามลำดับ ๆ ด้วยกิจวัตร เก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ
          ๑. กิจวัตรสวดมนต์ เช้า-เย็น เป็นประจำ
          ๒. กิจวัตรเจริญสมาธิภาวนา เช้า-เย็น เป็นประจำ ใครถนัดกำหนดใจให้หยุดนิ่งในกายด้วยวิธีไหนก็ใช้วิธีนั้น เช่น กำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วใส หรือพระพุทธรูปใสไว้กลางกายอย่างน้อยครั้งละ ๑๕-๓๐ นาที ดังภาพที่ ๗


          ๓. กิจวัตรเก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งกลับเข้านอน คือ ไม่ว่าจะอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ล้างจาน ซักผ้า ขัดห้องน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ขับรถ ทำการงาน เลี้ยงชีพ ขณะทำงานเหล่านั้นไป ก็ทำใจว่างโปร่งโล่งเบาไป พร้อมกับประคองเก็บรักษาใจไว้กลางกาย อาจประคองด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก กำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วหรือพระพุทธรูปใส ๆ ก็ได้ ดังภาพที่ ๘


           หลังจากปฏิบัติกิจวัตรเก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ อย่างต่อเนื่อง ๓ สัปดาห์ ย่อมรู้ตัวเองว่าใจผ่องใสขึ้นมาตามลำดับ แม้มีเรื่องวุ่นวายใดมากระทบระหว่างวันก็สามารถปล่อยผ่านและแก้ไขเหตุการณ์ได้ง่าย ใจก็กลับผ่องใสได้รวดเร็ว สิ่งใดที่เคยรู้สึกว่าเข้าใจยากก็กลับเข้าใจง่ายเพราะความผ่องใสของใจที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องต่อไป ไม่ช้าย่อมเข้าใจถูกวัตถุประสงค์แท้จริงของการใช้ปัจจัย ๔ แต่ละชนิด ดังภาพที่ ๕ ตรงตามที่ท่านผู้รู้จริงได้กล่าวไว้ อันเป็นต้นทางของความมีสติระลึกถึงความจริงสิ่งที่ต้องทำ คำที่ต้องพูด และมีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า
          ๑. ก่อนใช้พึงมีสติระลึกได้ว่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม แท้จริงมีไว้เพื่อ ๑) ป้องกันบำบัดความร้อน ความหนาวจากภายนอกและโรคร้อน โรคหนาวภายในกาย ๒) ป้องกันบำบัด เหลือบ ยุง ริ้น ไร สัตว์เลื้อยคลานไต่ตอม และลมกระโชกแรง แสงแดดแผดเผา ๓) ปกปิดอวัยวะกันอาย มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้มีไว้โชว์ความร่ำรวย สวย หล่อ หรือยั่วกามราคะใคร
          ๒. ก่อนใช้พึ่งมีสติระลึกได้ว่า ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นกระต๊อบเล็กหรือคฤหาสน์ใหญ่ แท้จริงมีไว้เพื่อ ๑) ป้องกันบำบัดความร้อนความหนาวจากภายนอก และโรคร้อนโรคหนาวจากภายในกาย ทำนองเดียวกับเสื้อผ้า ๒) ป้องกันบำบัดเหลือบ ยุง ลิ้น ไร สัตว์เลื้อยคลานทั้งน้อยใหญ่ และลมแดด ๓) ป้องกันบำบัด ฝน ฟ้า อากาศคะนองกระหน่ำทำอันตรายคนให้ป่วยไข้และทรัพย์สินให้เสียหาย ๔) เป็นที่ทำงาน ประกอบกิจส่วนตัว ร่วมอยู่เป็นสุขกับครอบครัว พอสบาย มีสัมปชัญญะ รู้ตัวว่าที่อยู่อาศัยไม่ได้มีไว้อวดอำนาจวาสนา ให้เปลืองค่ใช้จ่าย
          ๓. ก่อนกิน ดื่มพึ่งมีสติระลึกได้ว่า อาหารและเครื่องดื่ม แท้จริงก็ ๑) กินเพื่อแก้โรคหิว ดื่มแก้โรคกระหาย ให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตสมวัย ไม่หาโรคมาใส่กาย ผลิตพลังงานเลี้ยงกายให้อบอุ่น มีอายุขัยยืนยาว ๒) เพื่อให้มีเรี่ยวแรงประกอบอาชีพ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่าอาหาร เครื่องดื่ม ไม่ได้มีไว้เพื่อความเมามันทรงพลัง ประดับตกแต่งให้สวยให้งาม บำรุงกาม อวดเด่น อวดรวย อวดกล้าผลาญทรัพย์ ทำลายศีล เหยียบย่ำธรรมให้เสียผู้เสียคน
          ๔. ก่อนใช้พึงมีสติระลึกได้ว่ายารักษาโรค แท้จริงก็เพื่อ ๑) ป้องกันบำบัดทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอันเกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ๒) ป้องกันบำบัดโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอันเกิดจากความประมาทในการป้องกันบำบัดโรคอันเกิดจากภายในทั้งโรคร้อน โรคหนาว โรคหิว โรคกระหาย โรคปวดอุจจาระ โรคปวดปัสสาวะ มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า ยารักษาโรคไม่ได้มีไว้บำรุงกาม บำเรอความสุขต่ำาง ๆ ให้หลงใหลมัวเมา
          เมื่อใจผ่องใสเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ยิ่งเห็นชัดขึ้นมาในใจด้วยตนเองว่า ขุมทรัพย์ทางปัญญาของมนุษย์ ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ แต่เก็บไว้มากมายมหาศาลที่ศูนย์กลางกายของตนเอง มีปริมาณมากยิ่งกว่าความรู้จากห้องสมุดทั้งโลกมากองรวมกัน รอเวลาให้ผู้นั้น ตั้งสติมั่นเก็บใจไว้ในกายนิ่ง ๆ นาน ๆ อย่างสบาย ๆ ได้ชำนาญพอ แล้วความจริงอย่างลึกซึ้งในสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลออกมาให้รู้แจ้งแจ่มชัด ตรงตามที่ท่านผู้รู้จริงได้กล่าวไว้อย่างแน่นอน


 กิจวัตรเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ

สวดมนต์เช้า-เย็นเป็นประจำทุกวัน
เจริญสมาธิภาวนาเช้า-เย็นเป็นประจำทุกวัน
เก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ
ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งกลับเข้านอน

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

2 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา