ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๓ "สติ" : ความหมาย และลักษณะของสติ

(ทักทายจากแอดมิน : ในบทที่ ๓ ของบทความนี้ เราจะได้ทราบเกี่ยวกับเครื่องมือควบคุมใจ นั้นก็คือ "สติ" เพื่อให้เข้าใจตรงกัน หลวงพ่อก็ได้ให้ความหมาย และแจงเรื่องลักษณะของสติมีกี่ลักษณะ การที่เราจะฝึกตนเองให้มีสติตลอดเวลานั้น ควรทำอย่างไร ซึ่งคำว่า สตินี้ เมื่อควบคุมใจให้ได้ต่อเนื่องจะเกิดประโยชน์ต่อการทำสมาธิมากมาย ทำให้ใจเราผ่องใสตลอดเวลา เมื่อใจเราผ่องใสตลอดเวลาแล้ว หากเราจะทำอะไร ก็เกิดประโยชน์ต่อตนเองและหมู่คณะ ทราบอย่างนี้แล้ว มาอ่านรายละเอียดที่หลวงพ่อสอนไว้ดีกว่า....Are you ready?)

สติ 

ความหมายของสติ

          สติ แปลว่า ความระลึกได้ หมายถึง ความที่จิตมีความตื่นตัว ตื่นรู้ สามารถฉุกคิด ฉุกระลึกขึ้นได้ทันในการงานที่พึงทำ ในคำที่พึงพูด ในสิ่งที่พึงคิด

ลักษณะของสติ

          สติ เป็นคุณธรรมกำกับใจให้อยู่ในตัวไม่แวบหนีเที่ยวออกนอกกาย ดังภาพที่ ๒ ทำให้ใจผ่องใสอยู่เป็นนิจ เมื่อใจผ่องใสอยู่เป็นนิจ การเห็นรูปทางตา ได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก ได้รสทางสิ้น ได้สัมผัสทางกาย และรับรู้สภาพที่เกิดทางใจได้ตรงตามจริง ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส และรับรู้สภาพที่เกิดทางใจขณะนั้น ไม่ว่าจะรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉย 1 ก็ตาม ย่อมชัดเจนตรงไปตามความเป็นจริงเช่นนั้น และสามารถฝังลึกในใจ กำกับใจให้พร้อมระลึกได้ทุกขณะ

สติแบ่งออกได้ ๓ ลักษณะด้วยกัน คือ

       ๑. สติกำกับใจให้สามารถระลึกได้ถึงสิ่งที่กระทำในอดีต การงานที่ได้ทำ ถ้อยคำที่ได้พูดในอดีตแม้ผ่านไปนานแล้ว ตลอดจนระลึกได้ถึงคำสอนที่ทำให้รู้จักควบคุมกาย วาจา ใจตนเองอย่างถูกต้อง สมกับหน้าที่การงานที่ต้องทำในแต่ละโอกาส

แผนภาพ ๒ ผู้มีสติ และ ไม่มีสติ


 

       ๒. สติกำกับใจให้สามารถระลึกได้ถึงสิ่งที่เป็นปัจจุบัน คือ ระลึกถึงการเก็บใจไว้กลางกายให้เคร่งครัดแต่ไม่เคร่งเครียด เพื่อการยับยั้งชั่งใจ ไม่เผอเรอขณะกำลังทำงาน เช่น ระลึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออกของตนขณะเจริญภาวนาหรือระลึกถึงผักที่ตนกำลังหั่นอยู่ในมือ จึงไม่เผลอให้มีดบาดมือ
       ๓. สติกำกับใจให้สามารถระลึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ผู้ใหญ่ระลึกถึงความแก่ความตายที่กำลังจ้องรออยู่ นักเรียนนึกถึงวันสอบที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้า จำเลยนึกถึงวันที่จะต้องไปศาล จึงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมไม่เผลอ ไม่ลืม

       ความสามารถระลึกได้ทั้ง ๓ กาลของแต่ละบุคคล คือ ก่อนจะพูด ก่อนจะคิด ก่อนจะทำ ขณะกำลังคิด ขณะกำลังพูด ขณะกำลังทำ และหลังจากคิด หลังจากพูด หลังจากทำแม้ผ่านไปนานแล้วได้ มิใช่เกิดขึ้นเองลอย ๆ ล้วนเกิดจากการที่ผู้นั้นหมั่นฝึกสติ คือ หมั่นเก็บรักษาใจไว้ในกลางกายเป็นนิจจนกลายเป็นนิสัย 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

2 ความคิดเห็น:

  1. น้อมกราบอนุโมทนาสาธุครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ29 พฤษภาคม 2565 เวลา 20:49

    เห็นในความสำคัญของสติมากขึ้นเยอะเลยคะ..
    กราบอนุโมทนาบุญ สาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา