ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๖ : ความจริงคือหัวใจของการศึกษา

สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา

ตอน

ความจริงคือหัวใจการศึกษา

         เมื่อถึงตรงนี้คงมองออกแล้วว่า การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องมุ่งให้ผู้เรียน เป็นผู้รู้ความจริง ทั้งความจริงที่เกี่ยวกับตนเองและความจริงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ๕ พร้อมกับรีบประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมกับความจริงที่ตนได้เรียนรู้แล้วนั้น เพื่อแก้ไขปรับปรุงนิสัยตนให้ดียิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนมีชัยเหนือความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ได้ในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาจึงเป็นเรื่องการฝึกฝนตนเองและผู้อื่นให้ ๑) พากเพียรไม่ท้อถอยศึกษาหาความจริงที่ต้องรีบรู้ ที่ต้องรีบประพฤติ ๒ พากเพียรประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมตรงตามความจริงให้เคย คุ้น ชินเป็นนิสัยดีประจำตน ดังนั้นความจริงจึงเป็นหัวใจสำคัญการศึกษา เราจึงควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความจริงคืออะไร

ความหมายของความจริง

          ความจริง มีความหมาย ๒ ประการ ดังนี้
          ๑. สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพัด เซลล์ อวัยวะ ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายคน สัตว์ พืชต่าง ๆ ระบบต่าง ๆ ภายในพืชแต่ละชนิด ฤดูกาล เวลา ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างนั้นเองโดยธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไม่ได้
          ๒. สิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ แล้วเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้
          ตัวอย่าง ความจริง
          นาย ก เดินข้ามทุ่ง ขณะพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ฟ้าผ่านาย ก เสียชีวิตที่ทุ่งนา ตำบล... อำเภอ... จังหวัด...เมื่อเวลา....
          ๑) นาย ก เดินข้ามทุ่ง                        เป็นความจริง ที่เกิดจากการกระทำของนาย ก
          ๒) มีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก     เป็นความจริง ที่เกิดจากธรรมชาติ
          ๓) ฟ้าผ่า นาย ก                                เป็นความจริง ที่เกิดจากธรรมชาติกระทำต่อนาย ก
          ๔) นาย ก เสียชีวิต                            เป็นความจริง ที่เกิดกับนาย ก
                                                                    เพราะไม่อาจทนต่อความรุนแรงของกระแสฟ้าผ่าได้
          ๕) เหตุเกิดตำบล... อำเภอ... จังหวัด... เวลา... เป็นความจริง เป็นอย่างนั้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ทั้ง ๕ เหตุการณ์ เป็นความจริง เพราะเป็นอย่างนั้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

ประเภทของความจริง

          ความจริงแบ่งตามความเป็น-ไม่เป็นประโยชน์ ได้ ๒ ประเภท คือ ๑) ความจริงที่เป็นคุณ ๒) ความจริงที่เป็นโทษ เช่น ฝนตก เป็นความจริงที่เกิดตามธรรมชาติเป็นคุณต่อคน สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพราะให้น้ำฝน น้ำใช้ น้ำดื่ม ลดมลภาวะ เป็นต้น แต่เป็นโทษถ้าฝนตกยกระดับความรุนแรงเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้น้ำท่วม พัดบ้านเรือนเสียหาย เกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิต พายุฝนจึงจัดเป็นความจริงที่ให้โทษด้วย
          ความจริงแบ่งตามการรู้ออกเป็น ๒ ประเภท คือ
          ๑. ความจริงกายภาพ เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่มีใจกำกับสั่งการ และรู้ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่าง ๆ
          ความจริงประเภทนี้ รู้ได้เกือบทุกคนแต่ความลุ่มลึกแตกต่างกัน ผู้ใดที่มิใจจดจ่อกับความจริงนี้ก็จะใช้ ตา หูจมูก ลิ้น กาย สังเกต เห็นรับรู้ข้อมูลความจริงได้มาก ได้ถูกต้อง ได้ครบถ้วน ทำให้ใจสามารถนำข้อมูลความจริงเหล่านี้มาคิดเชื่อมโยง เห็นเป็นเรื่องราวความเป็นเหตุเป็นผลนำไปสู่การทดลอง พิสูจน์ จนได้ข้อสรุปเป็นความจริง เช่น
          ลูกแอปเปิ้ลตกจากต้น ใคร ๆ ก็เห็น แต่ก็ไม่มีใครสนใจว่าทำไมจึงตกจากต้น จนกระทั่ง เซอร์ไอแซก นิวตัน(Sir Isaac Newton) สังเกตเห็นความจริงกายภาพที่รู้ได้จากการขบคิด ซึ่งเป็นการเห็นในความคิด เพราะใจท่านจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียวของความอยากรู้เหตุผลว่า ทำไมลูกแอปเปีลจึงตกจากต้น ใจลักษณะนี้เป็นใจที่ไม่แวบคิดโน่นคิดนี่ให้ฟุ้งซ่านเหมือนคนทั่วไป แล้วก็ได้คำตอบจากการทดลอง พิสูจน์ จนเกิดเป็นทฤษฎีแรงโน้มถ่วง คือ โลกส่งแรงดึงดูดสรรพสัตว์และสรรพสิ่งมาที่ศูนย์กลางกายของสรรพสัตว์และจุดศูนย์ถ่วงของสรรพสิ่ง ทำให้สรรพสัตว์และสรรพสิ่งไม่หลุดลอยเคว้งคว้างออกไปจากโลก
          การแสวงหาความจริงกายภาพ เกิดจากการนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การเห็น การฟัง การดม การลิ้มรสการสัมผัส มาขบคิด วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ จนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า วิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ระบบย่อยอาหรของคน-สัตว์ แต่เดิมเราไม่ทราบหรือไม่อาจเห็นได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน แต่ก็รู้ว่ามี เพราะเกิดจากการเรียนรู้และสังเกต ความรู้สึกอิ่ม หิว กระหาย จากระยะเวลาที่กินจนกระทั่งเวลาที่ของเสียขับถ่ายออกมาจากร่างกาย
          กล่าวได้ว่า กฎ ทฤษฎี ความรู้ด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นความจริงกายภาพที่พิสูจน์ ทดลองให้เห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส ทั้ง  นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แสวงหาความจริงกายภาพด้วยจุดมุ่งหมาย ๑) เพื่อทำความเข้าใจปรากฏกรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆว่า สิ่งนั้น เรื่องนั้น คืออะไร เกิดได้อย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ทำไมจึงเกิด มีเหตุปัจจัยอะไรที่ส่งเสริมหรือยับยั้งเหตุการณ์นั้นได้บ้าง ๒) เพื่อนำความรู้ความจริงที่ค้นพบนี้มาใช้ประโยชน์ ๓) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต
          ๒. ความจริงจิตภาพ เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยใจที่มีความบริสุทธิ์ เป็นความจริงที่เป็นนามธรรม ผู้มีสติหมั่นเก็บใจไว้กลางกายเป็นนิจ ใจย่อมผ่องใส ย่อมเห็นความจริงประเภทนามธรรมนี้ได้ง่ายและชัดเจน เพราะเป็นธรรมชาติว่า ความสว่างทำให้เห็นความจริง หากผู้ใดรักษาใจให้หยุด นิ่ง นุ่ม นาน แนบแน่นที่กลางกายอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ใจก็ยิ่งเห็นความจริงจิตภาพได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ
          ธรรมชาติความจริงที่เป็นนามธรรม เช่น ใจ ศีลธรรม กฎสากลประจำจักรวาล กิเลส ทางพ้นทุกข์ สิ่งเหล่านี้ย่อมรู้ได้ด้วยใจที่ผ่องใส ใจที่สว่างเท่านั้น ยิ่งใจสว่าง ใจบริสุทธิ์มากเท่ไร ก็ยิ่งเห็นความจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หรือกายภาพและจิตภาพได้หมดจดมากเท่านั้น เพราะความสว่างทำให้เห็นความจริง จึงไม่ต้องใช้ความคิดคาดการณ์หรือจินตนาการไปต่าง ๆ นานา เหมือนเข้าไปในห้องมืดหรือสลัวๆ เราย่อมเห็นอะไร ๆ ได้ไม่ชัดเจนว่ามีอะไรอยู่ในห้องหรือเห็นเพียงตะคุ่ม ๆ ต้องอาศัยการคาดคะเนไปต่าง ๆ ต่อเมื่อเปิดไฟเกิดความสว่างแล้ว ก็เห็นทันทีว่ามีอะไรในห้องบ้าง
          แต่ถ้าใครใจขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ใจมืด ก็ยิ่งเห็นไม่ถูกต้องตรงความจริง เห็นความเท็จเป็นความจริง เห็นความดีเป็นความชั่ว เห็นความชั่วเป็นความดี ดังตัวอย่าง
 
          ความจริงจิตภาพ                         คนใจใส                                  คนใจขุ่น
     ศีล ๕ ทำให้เห็นใจกันและกัน          เห็นว่าจริง ต้องรักษา         เห็นว่าไม่จริง ต้องละเมิดฝ่าฝืน
     สติ ทำให้ใจผ่องใส                          เห็นว่าจริง ต้องฝึกฝน        เห็นว่าไม่จริง ไม่ต้องฝึกฝน
     อบายมุข มีโทษร้ายแรงดิ่งไปที่ชั่ว  เห็นว่าจริง ต้องเว้นห่าง      เห็นว่าไม่จริง ต้องช่องเสพ
          ดังนั้น ผู้แสวงหาความจริงจิตภาพย่อมได้ชื่อว่าแสวงหาปัญญาทั้งภายนอกและภายใน โดยเริ่มจากฝึกสติสัมปชัญญะ คือ ให้มีความรู้ตัวทั่วพร้อม เก็บใจไว้กลางกาย จนใจหยุดนิ่ง ใส สะอาด กระทั่งสว่างไม่มีประมาณตั้งมั่นอยู่ภายใน แล้วเกิดความรู้แจ้งจากการเห็นภายในนั้น จัดเป็นปัญญาด้านจิตภาพเมื่อรวมกับการเห็นการรู้ภายนอกจากประสาทสัมผัส  ย่อมทำให้สามารถเอาชนะความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ประการ ได้อย่างเด็ดขาด นี้เป็นเส้นทางศีลธรรม
          จากประเภทความจริงที่กล่าวมาทั้งหมด การศึกษาจึงต้องทำให้ผู้เรียนได้รอบรู้ชัดความจริง ทั้งความจริงกายภาพและความจริงจิตภาพ ทั้งความจริงที่เป็นคุณและโทษ แล้วเลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะความจริงกายภาพ-จิตภาพที่เป็นคุณ เว้นห่างจากการประพฤติปฏิบัติตามความจริงกายภาพ-จิตภาพที่เป็นโทษ จึงจะบังเกิดเป็นความดี ห่างไกล จากความชั่ว คือ ไม่มีความเดือดร้อนใด ๆ ตามมาในภายหลังจากการกระทำทางกาย วาจา ใจของตนที่มีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น มีแต่เกิดประโยชน์สุข มีแต่ใจผ่องใสโดยทั่วหน้ากันทุกคน ดังภาพที่ ๑๓
          ใจผ่องใสเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์รู้-เห็นความจริงกายภาพ-จิตภาพได้ลุ่มลึกสมตามที่ท่านผู้รู้จริงกล่าวไว้ว่า
          สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเกี่ยวข้อง สำคัญที่การรู้การเห็นของใจ มีใจเป็นใหญ่ในการตัดสิน มีความสำเร็จกิจจากการสั่งของใจ
          ๑. ถ้าใจขุ่นมัว มืดบอด การพูดการทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความเดือดร้อนย่อมติดตามตัวเขา เหมือนล้อเกวียนหมุนบดขยี้ตามรอยเท้าโค
          ๒. ตรงกันข้าม ถ้าใจผ่องใส ใจสว่าง การพูดการทำก็พลอยดีไปด้วย เพราะความดีที่เป็นเหตุแห่งความสุข ความเจริญย่อมติดตามตัวเขาเหมือนเงาตามตน
 

ยิ่งใจผ่องใส
ยิ่งใจสว่างบริสุทธิ์มากเท่าไร
ก็จะยิ่งทำให้เห็นความจริง
ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
ได้ลุ่มลึกและถูกต้องตรงความจริง
มากเท่านั้น

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๖ : ความจริงที่ต้องจัดการศึกษา

สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา

ตอน

ความจริงที่ต้องจัดการศึกษา


          การศึกษามีความสำคัญต่อมนุษยชาติ เพราะเป็นวิธีการเดียวเท่านั้น ที่สามารถนำพาชาวโลกให้เข้าถึงความจริงอันประเสริฐสามารถเอาชนะความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ประการได้อย่างเด็ดขาด ด้วยการฝึกสติสัมปชัญญะเป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยความรู้วิชาการและเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ การจัดการศึกษาควรมุ่งให้ผู้เรียนรอบรู้ความจริงที่ต้องรีบรู้รีบประพฤติปฏิบัติ แล้วฝึกฝนแก้ไขดัดนิสัยตนให้เป็นผู้มีนิสัยดี ดังภาพที่ ๑๒


 

ความรู้วิชาการทางโลก

หากเกิดกับคนพาล
ย่อมมีแต่จะนำความพินาศฉิบหายมาให้
เพราะใจของเขาชอบออกไปนอกตัว
และขุ่นมัวอยู่เป็นนิจ
จึงเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกได้ง่าย

 

 ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๖ : หลักคิดการจัดการศึกษา


 

สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา

ตอน

หลักคิดการจัดการศึกษา

ท่านผู้รู้จริงได้กรุณาให้หลักคิดในการจัดการการศึกษาไว้อย่างลึกซึ้งแต่เรียบง่ายว่า
          ๑. ความรู้วิชาการทางโลก ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ หากเกิดกับคนพาล คือ คนที่สติยังอบรมมาไม่เข้มแข็งพอ ยังควบคุมใจให้อยู่ในกายเป็นนิจสมแก่เพศวัยของตนไม่ได้ ย่อมมีแต่จะนำความพินาศฉิบหายมาให้ เพราะใจของเขาชอบแวบออกไปนอกตัวและขุ่นมัวอยู่เป็นนิจ จึงเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกได้ง่าย ใช้วิชาการทางโลกเข้ามาเป็นอุปกรณ์เสริมให้คิดร้าย พูดร้าย และทำสิ่งร้าย ๆ ย่อมก่อความเดือดร้อนอย่างมหันต์ทั้งต่อตัวเขาเองและคนรอบข้าง ตรงกับที่ท่านผู้รู้จริงเตือนว่า การจัดการศึกษาที่ถูกจำเป็นต้องปลูกฝังสติสัมปชัญญะให้มั่นคงไว้เป็นภูมิคุ้มกันความชั่วให้แก่ผู้เรียนก่อนแล้วถ่ายทอดวิชาการตามหลัง หรืออย่างน้อยต้องปลูกฝังสติสัมปชัญญะและถ่ายทอดวิชาการไปพร้อม ๆ กัน แต่ห้ามถ่ายทอดวิชาการโดยไม่ปลูกฝังสติสัมปชัญญะเด็ดขาด
          ๒. ท่านผู้รู้จริงยังได้เมตตาแสดงถึงความร้ายกาจของโรคประจำใจ ๓ ว่า เคยทำลายชีวิตผู้คนไปครึ่งค่อนโลกมาแล้วด้วยอาการ ต เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้รอบคอบในการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน
          ในอดีตก่อนยุคของท่านผู้รู้จริง ชาวโลกในยุคนั้นส่วนมากเชื่อว่าสมองควบคุมกายโดยไม่เชื่อว่าคนมีใจ จึงไม่สนใจที่จะฝึกสติสัมปชัญญะไว้ควบคุมใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้คนทุกระดับชั้นจึงยินดีกับความไม่ชอบธรรม ถูกความโลภบีบคั้นหนัก ให้คิดเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นในทางไม่ชอบ ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมาย มั่วสุมเสพคุ้นอบายมุขทุกชนิด มีความเห็นผิดเป็นชอบ ต่างจับอาวุธเพื่อก่อสงครามเข่นฆ่าล้างผลาญกัน ส่งผลให้ผู้คนในยุคนั้นล้มตายไปเป็นจำนวนมาก (อง.ติก. ๒๐/๕๗/๒๒๐-๒๒๑ (ไทย.มจร) นี้เป็นผลร้ายแห่งความโลภประการที่ ๑
          เพราะขาดสติสัมปชัญญะควบคุมใจ ผู้คนต่างโลภหนัก นอกจากเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์สมบัติผู้อื่นในทางไม่ชอบแล้ว ต่างคนต่างทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะความโลภเห็นแก่ตัวนั้น ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ข้าวกล้าเสียหายเป็นเพลี้ยหนอนเหลือแต่ต้น อาหารก็ขาดแคลนไปทั่วโลก มนุษย์จึงล้มตายไปอีกมากมายด้วยทุพภิกขภัย นี้เป็นผลร้ายแห่งความโลภประการที่ ๒
          เมื่อผู้คนขาดสติสัมปชัญญะควบคุมใจ ต่างคนต่างถูกความโลภบีบคั้นใจอย่างหนัก ตัวเป็นคนแต่ใจกลายเป็นยักษ์ ขาดความเมตตาสงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ได้ปล่อยอมนุษย์ คือ โรคระบาดร้ายแรงให้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค เพื่อหวังทรัพย์สมบัติของผู้อื่น เมืองอื่นประเทศอื่นในทางไม่ชอบ ผู้คนจึงล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง นี้เป็นผลร้ายแห่งความโลภประการที่ ๓
          ความล้มตายของผู้คนครึ่งค่อนโลกในอดีตที่ท่านผู้รู้จริงแสดงไว้ย่อมซี้ชัดว่า สาเหตุที่ความโลภท่วมทับใจของผู้คนทั้งโลก ล้วนเกิดจากการจัดการศึกษาผิด ๆ ของแต่ละยุคสมัย แต่ละประเทศในภูมิภาคทั่วโลก เริ่มจากตั้งเป้าหมายการศึกษาผิด แทนที่จะมุ่งเพื่อค้นหาความรู้จริงไว้ใช้กำจัดทุกข์ กำจัดกิเลส คือ โรคประจำใจ ๓ เพื่อความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของทุกคน จะได้อยู่เหนือกฎแห่งกรรม กลับมุ่งไปส่งเสริมให้แข่งกันรวย แข่งกันเป็นมหาอำนาจทางด้านต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งเสริมให้กิเลส คือ โรคประจำใจ ๓ แพร่ระบาดเร็วขึ้นทั้งสิ้น

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๖ : สติสัมปชัญญะ รากฐานการศึกษา ตอน กำเนิดผู้รู้จริงครูดีต้นแบบ


สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา 

ตอน

กำเนิดผู้รู้จริงครูดีต้นแบบ

          โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกสลายไป แล้วกลับมาเกิดเป็นโลกใบใหม่ขึ้นมาอีกวนเวียนอยู่อย่างนี้นับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ยุคใดที่สิ่งแวดล้อมทั้ง ๕ ในโลกสะอาดมาก ยุคนั้นมนุษย์และสัตว์ไม่เว้นแม้ต้นไม้ใบหญ้าย่อมอายุยืน พืชพันธุ์ธัญญาหารย่อมอุดมสมบูรณ์ ความอดอยากยากจนถึงมีก็น้อยมาก
          ในยุคเช่นว่านี้ ย่อมมีครอบครัวที่พ่อแม่มีจิตใจดีงาม รักการทำความสะอาด จัดระเบียบทั้งร่างกายตนเองตลอดจนปัจจัย ๔ และสิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔ ด้วยตนเองอย่างพิถีพิถันถูกต้องเหมาะสมตามวิธีการของสิ่งนั้น ๆ ด้วยอารมณ์ดีมีจิตผ่องใสเป็นนิจ เมื่อบุตรถือกำเนิดมา ก็ตั้งใจอบรมให้บุตรคุ้นกับความสะอาด และความเป็นระเบียบตั้งแต่ยังเป็นทารกนอนแบเบา: โตขึ้นก็อบรมให้บุตรรักการทำความสะอาด จัดระเบียบอย่างถูกวิธี และพิถีพิถันเช่นเดียวกับตน สมกับอายุ เพศ และวัย อย่างใกล้ชิด ชี้แจงเหตุผลให้บุตรเข้าใจตรงตามความเป็นจริงว่า ทำไมจึงต้องปฏิบัติต่อสิ่งของนั้น ๆ อย่างนี้อย่างนั้น ด้วยอารมณ์แจ่มใสและไม่เบื่อต่อการตอบข้อชักถามและข้อข้องใจของบุตร
          บุตรที่เกิดในครอบครัวเช่นนี้ ทั้งหญิงและชายย่อมสามารถควบคุมโรคประจำกาย ๖ ของตนได้ดีมาแต่เล็กสุขภาพร่างกายย่อมแข็งแรง ใจย่อมเชื่องอยู่ในกายไม่กระลับกระส่ายง่าย เกิดความรักสงบเป็นชีวิตจิตใจโดยธรรมชาติ เพราะถูกฝึกให้มีสติสัมปชัญญะโดยไม่รู้ตัว ขณะที่ใจจดจ่อกับการทำความสะอาด จัดระเบียบทั้งร่างกาย ตุ๊กตาที่อุ้มเล่นและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของตน
          บุตรเช่นว่านี้ เมื่อเติบโตขึ้นหากได้พบครูดีแนะนำสั่งสอนให้ทำสมาธิถูกวิธีท่านแล้วท่านเล่า ย่อมสามารถเก็บใจไว้กลางกายได้เป็นนิจ สติสัมปชัญญะย่อมสมบูรณ์ ใจย่อมผ่องใส ทรงพลังมหาศาลเกินคาด เพราะตั้งแต่เล็กจนโต การกระทำใด ๆ ทางกายก็ตรงไปตรงมา เพื่อให้สิ่งที่ทำนั้นสะอาด และเป็นระเบียบจริงสมกับคุณสมบัติ หรือคุณภาพของสิ่งนั้น ไม่มีการกระทำใด ๆ ทางกายที่น่าอับอายต้องปิดบังใคร คำพูดก็ตรงไปตรงมาตามคุณภาพงานที่ตนทำ ไม่มีความจำเป็นต้องกล่าวเท็จใด ๆ ความคิดก็ตรงไปตรงมาตามความจริง เพื่อให้ทุกสิ่งที่ตนต้องเกี่ยวข้องดำเนินไปด้วยดี ไม่มีใครต้องเดือดร้อน เพราะคำพูดและการงานที่ตนทำ มีแต่เกิดประโยชน์ต่อทุกคน
          บุคคลที่ใจสงบเป็นสมาธิตั้งมั่น มีสติควบคุมเก็บรักษาใจไว้ในศูนย์กลางกายได้เป็นนิจ มีสัมปชัญญะคิดรู้ตัวอยู่เสมอ ตั้งแต่วัยทารกเช่นนี้ เมื่อเห็นชาวโลกในยุคของตนยอมแพ้อย่างราบคาบต่อความจริงที่น่าตระหนกประจำโลก ๔ ประการ คือ ๑) ตั้งแต่เกิดมาต่างต้องตกอยู่ใต้ความไม่รู้อะไรเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่รู้ว่าตนเกิดมาทำไม ก็ยอมคิดมักง่ายว่าช่างมัน ๒) ตั้งแต่เกิดมาต่างต้องอยู่กับความทุกข์เดือดร้อนทั้งกายใจจนกระทั่งตาย ก็ยอมคิดมักง่ายว่าช่างมัน ๓) ตั้งแต่เกิดมาต่างต้องอยู่กับความสกปรก และผลิตขยะสร้างความสกปรกให้แก่โลกจนกระทั่งตายแม้ตายแล้วก็ยังทิ้งศพให้สกปรกต่อโลกอีก ก็ยอมคิดมักง่ายว่าช่างมัน ๔) ตั้งแต่เกิดมาต่างต้องตกอยู่ใต้กฎแห่งกรรมซึ่งไม่มีการประกาศให้รู้ แต่บีบคั้นให้ต้องเป็นนักโทษรอประหารของโลกอย่างไม่มีวันจบ ก็ยังยอมคิดมักง่ายว่าช่างมันอยู่นั่นเอง แต่ท่านผู้มีใจสงบนี้กลับฮึดสู้ ไม่ยอมถอยแม้ครึ่งก้าว เพราะสติเตือนให้ท่านระลึกถึงความจริงที่เห็นประจักษ์ตามธรรมชาติว่า
                                เมื่อมีร้อน ก็มี เย็น
                             เมื่อมีมืด ก็มี สว่าง
                             เมื่อมีขุ่น ก็มี ใส
      เพราะฉะนั้น   เมื่อมีความไม่รู้ ก็ย่อมมี ความรู้แจ้งมาแก้ไขได้
                            เมื่อมีความทุกข์ ก็ย่อมมี ความสุขมาแก้ไขได้
                            เมื่อมีความสกปรก ก็ย่อมมี ความสะอาดมาแก้ไขได้
        เมื่อมีการตกอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ก็ย่อมมี การอยู่เหนือกฎแห่งกรรมมาแก้ไขได้

        สัมปชัญญะของท่านก็คอยกระตุ้นเตือนให้รู้ตัวว่า บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่ท่านต้องยอมสละชีวิตบำเพ็ญเพียรทั้งด้านกายภาพ และจิตภาพควบคู่กันไป เพื่อค้นหาความจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง เพื่อนำความรู้จริงเรื่องนั้น ๆมาเป็นอุปกรณ์กำจัดความจริงที่น่าตระหนกประจำโลกทั้ง ๔ ประการ ให้หมดสิ้นให้จงได้
        ในที่สุด หลังจากท่านค้นคว้าและประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดยิ่งยวดพอเหมาะพอดีมายาวนาน สุขภาพร่างกายของท่านก็แข็งแกร่งเต็มที่  สมาธิและสติสัมปชัญญะของท่านก็สมบูรณ์ถึงที่สุด สามารถประคองรักษาใจให้หยุดนิ่ง ตั้งมั่น ณ ศูนย์กลางกายได้อย่างถาวร ใจของท่านก็ใสสะอาดบริสุทธิ์ถึงที่สุด บังเกิดความสว่างโพลงขึ้นภายในอย่างไม่มีประมาณ ราวกับกลืนดวงอาทิตย์ยามเที่ยงไว้กลางท้อง แต่มีความชุ่มเย็นเหมือนดวงจันทร์เพ็ญ สามารถเห็นสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ต่าง ๆ ตรงตามความเป็นจริง และรู้แจ้งความจริงจากการเห็นนั้นพร้อม ๆ กันไปทำให้ท่านสามารถประพฤติปฏิบัติกาย-วาจา-ใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ตั้งแต่นั้นมาทุกการกระทำของท่าน ย่อมไม่ทำความเดือดร้อนใด ๆ ทั้งต่อตัวท่านเองและผู้อื่น มีแต่จะทำให้เกิดประโยชน์กับสรรพสัตว์ทั่วหน้า กิเลส คือโรคประจำใจ ๓ ก็ถูกกำจัดออกจากใจ เพราะการเห็นและรู้ความจริงจากความสว่างภายในนั้น
        สิ่งที่สำคัญและเป็นพระคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือ ท่านไม่หวงแหนความรู้แจ้งเห็นจริงที่ท่านค้นคว้าศึกษาวิจัยมาด้วยชีวิตของท่านเอง ท่านยังมีมหากรุณาสั่งสอนชาวโลกให้รู้ความจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งตามท่าน ติดตามให้กำลังใจผู้ที่สามารถตรึกตรองจนรู้ความจริงให้กล้าสละชีวิต ฝึกตนจนสามารถเก็บใจไว้ในกายได้อย่างถาวร ใจจึงสะอาด บริสุทธิ์ ได้รู้แจ้งเห็นจริงในทุกระดับทั้งจากภายนอกและภายในกาย กำจัดกิเลสได้อย่างเด็ดขาด และพ้นทุกข์อย่างแท้จริงตามท่าน ท่านจึงได้ชื่อว่า ท่านผู้รู้แจ้งเห็นจริง คือ ทั้งรู้และทั้งเห็นจริงในสรรพสัตว์และสรรพสิ่งด้วยตนเองโดยชอบราเรียกนามของท่านสั้น ๆ ว่า ท่านผู้รู้จริง

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ : หลักเกณฑ์ตัดสินกรรมดี-ชั่ว และ การให้ผลของกรรม


 

สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

หลักเกณฑ์ตัดสินกรรมดี-ชั่ว

          กรรม เป็นคำกลาง ๆ ยังไม่ได้หมายความว่า ดีหรือชั่ว ต่อเมื่อใดเราได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นการกระทำที่ดี เรียกว่า กุศลกรรมบ้าง สุจริตกรรมบ้าง บุญบ้าง ภาษาไทยเรียกรวม ๆ ว่า ทำความดี หากเป็นการกระทำที่ไม่ดีก็เรียกว่า อกุศลกรรมบ้าง ทุจริตกรรมบ้าง บาปบ้าง ภาษาไทยเรียกรวมๆ ว่า ทำความชั่ว ท่านผู้รู้จริงได้เมตตาให้เกณฑ์ตัดสิน กรรมดีกรรมชั่ว ไว้ว่า
          ๑. กรรมดี คือ การกระทำใด เมื่อทำแล้ว ทำให้ผู้ทำไม่ต้องเดือดร้อนใจภายหลัง อีกทั้งมีใจเบิกบาน เสวยผลของการกระทำอยู่ การกระทำนั้นย่อมเป็นการกระทำดี
          ๒. กรรมชั่ว คือ การกระทำใด เมื่อกระทำแล้ว ทำให้ผู้ทำต้องเดือดร้อนใจภายหลัง อีกทั้งมีน้ำตานองหน้าเสวยผลของการกระทำอยู่ การกระทำนั้นย่อมเป็นการกระทำชั่ว

การให้ผลของกรรม

          กรรม คือ การกระทำ ทุกการกระทำเมื่อทำแล้ว ย่อมมีผลของการกระทำเกิดขึ้นมา เราเรียกผลของการกระทำนี้ว่า วิบาก มีอยู่ ๒ ชั้นด้วยกัน คือ
          ๑. ผลกรรมชั้นใน เป็นผลทางใจโดยตรง คือ ให้ผลในทางความรู้สึกนึกคิด ถ้าทำกรรมดีก็ให้ผลเป็นความรู้สึกนึกคิดที่ดี ที่เรียกว่า บุญ ถ้าทำกรรมชั่วก็ให้ผลเป็นความรู้สึกนึกคิดที่ชั่ว ที่เรียกว่า บาป ความรู้สึกนึกคิดไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่วก็จะเป็นวิบากตกค้างในใจ ในรูปความเคยต่อความรู้สึกนึกคิดทำนองนั้น ซึ่งเมื่อทำบ่อยเข้า ๆ ก็สะสมจากเคยเป็นคุ้น เมื่อคุ้นบ่อยเข้าก็กลายเป็นชิน สุดท้ายก็กลายเป็นผลทางกายและใจที่ลึกลงไปอีกเป็นเหมือนพลังแม่เหล็กก้อนใหญ่ คือ เป็นนิสัย อนุสัย อุปนิสัย เป็นวาสนาของผู้นั้น
          ถ้าเคยคุ้นชินต่อความดีชนิดใดมาก ก็กลายเป็นนิสัยดีด้านนั้น ๆ เช่น บางคนก็มีนิสัยรักการตักบาตร รักการปล่อยสัตว์ รักการรักษาศีล รักการฟังเทศน์ รักการฝึกสติสัมปชัญญะ นิสัยเหล่านี้ ถ้าสะสมเข้มข้นต่อเนื่องยาวนานก็จะกลายเป็นผลทางใจที่ลึกที่สุด มีพลังมากที่สุดที่เรียกว่า บารมี ซึ่งเป็นผลของความดีที่มั่นคง ความชั่วใด ๆ ไปตัดรอนให้สั่นคลอนไม่ได้ แต่มีอำนาจในการตัดรอนความชั่วได้เด็ดขาด
          แต่ถ้าเคยคุ้นชินต่อความชั่วชนิดใดก็กลายเป็นคนเลวชนิดนั้น ตั้งแต่นิสัยขี้ขโมย นิสัยเจ้าชู้ นิสัยขี้เหล้า นิสัยเหล่านี้จะสะสมเป็นพลังใจด้านลบที่เข้มข้นยิ่งขึ้น จนกลายเป็นสันดาน เป็นอนุสัย เป็นวาสนาที่ไม่ดีต่อไป
          ๒. ผลกรรมชั้นนอก เป็นผลทางรูปธรรม คือ ทำให้ผู้ทำกรรมนั้นได้รับสิ่งที่ดีและไม่ดี ที่ดี คือ ได้ลาภ ยศสรรเสริญ สุข ที่ไม่ดี คือ ได้รับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย ทุกข์ทั้งกายและใจ
          การให้ผลของกรรมชั้นในนั้น ย่อมได้รับทันทีหลังจากทำกรรมนั้นสิ้นสุดลง คือ ทำดีก็ได้บุญทันที ทำชั่วก็ได้บาปทันที ทั้งบุญและบาปที่สะสมไว้ต่างก็รอจังหวะส่งผลต่อไปจนกว่าจะสิ้นแรงบุญบาปนั้น ๆ สำหรับผลของกรรมชั้นนอกจะส่งผลเร็วหรือช้าประการใดก็ขึ้นกับองค์ประกอบที่ค่อนข้างสลับชับซ้อนถึง ๔ ประการ คือ คติ อุปธิ กาล ปโยค ซึ่งต้องฝึกสติสัมปชัญญะให้มากจึงจะเข้าใจได้ชัด
         โดยเหตุที่กฎแห่งกรรมเป็นกฎธรรมชาติไม่มีการประกาศบังคับใช้ ชาวโลกส่วนใหญ่จึงไม่ทราบ แม้ทราบก็ไม่เชื่อ โอกาสที่คนทั้งโลกจะทำชั่วจึงมีมาก อุปมาว่า คนถลำไปทำความชั่วมีจำนวนมากเท่ากับขนโค ส่วนคนทำดีมีประมาณเท่าเขาโค ก็โคแต่ละตัวมีเพียงเขาสองข้าง ส่วนจำนวนเส้นขนนั้นนับไม่ไหว
         เพราะฉะนั้นโลกทั้งโลกจึงกลายเป็นโลกของความทุกข์ จะหวังความสุขใด ๆ ย่อมมีน้อย แต่ถึงโอกาสเป็นสุขจะมีน้อย หากแต่ละคนต่างร่วมใจกันชักชวน เชื้อเชิญ ให้กำลังใจกันทำความดีพร้อม ๆ กันไปทั่วทั้งโลก โลกของเราก็อาจเป็นสวรรค์บนดินได้
          โดยต่างคนต่างเริ่มจากการเข้าวัดฟังธรรม และค้นคว้าความรู้จากตำรับตำราทางศาสนาให้เข้าใจถูกเรื่องกฎแห่งกรรมที่ท่านผู้รู้จริงมอบเป็นมรดกโลกไว้ ตั้งใจฝึกเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะด้วยตนเองเป็นนิจ ผ่านการเจริญสมาธิภาวนาในกิจวัตรประจำวันเป็นประจำจนกลายเป็นกรณียกิจ ให้มีสติสัมปชัญญะอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ย่อมสามารถพิชิตนานาวิกฤตทั้งโลกได้ไม่ยาก และมั่นใจได้ด้วยว่าพ่อแม่ผู้ปกครองผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตนดีงาม ด้วยความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เช่นนี้ย่อมสามารถเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพในชีวิตประจำวันให้เจริญรุ่งเรือง มั่งคั่ง ยิ่งกว่าชาวโลกทั่วไปได้

 การที่ผู้ปกครอง

ตั้งใจอบรมสั่งสอนลูกหลาน

ให้ทำความสะอาด จัดระเบียบอย่างถูกวิธี และทำทันที
เป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานละชั่วขั้นต้น
ที่สำคัญคือ เป็นการฝึกให้ลูกหลานไม่มักง่าย
ซึ่งถือเป็นการทำความดีขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติ

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ : ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๔

 

สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

ตอน

ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๔

          สัตว์โลกตกอยู่ใต้กฎแห่งกรรม ทันทีที่เกิด ทุกชีวิตต่างตกเป็นนักโทษรอประหารของโลก ตกอยู่ภายใต้กฎเหล็กที่ไม่เคยติดประกาศให้ใครรู้ คือ กฎแห่งกรรม กฏนี้มีอำนาจครอบคลุมไปทั้งโลก ใคร ๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ เป็นเสมือนกฎหมายร้ายแรงที่จ้องแทงเชือดเฉือนผู้คนทั้งโลกอยู่เบื้องหลัง ต้องรอให้ท่านผู้รู้ผู้เห็นความจริงทุกสรรพสิ่งด้วยญาณทัสสนะ คือ ความสว่างภายในจากการเจริญสมธิอย่างยิ่งยวดของท่าน ค้นพบแล้วนำมาประกาศ ชาวโลกจึงทราบได้ ซึ่งตลอดยุคสมัยของท่านเองก็ไม่สามารถประกาศให้ทราบกันได้ทั่วโลก ครั้นกาลเวลาผ่านไป ชาวโลกทั้งหลายก็หลงลืมกฎแห่งกรรมที่ค้นพบได้โดยยากนี้อีก ต้องรออีกนานนับอสงไขย ๆ กัป ท่านผู้รู้จริงองค์ใหม่จึงมาค้นพบแล้วประกาศให้ชาวโลกทราบใหม่อีกครั้ง สาเหตุที่เรียกทุกคนว่าเป็นนักโทษรอประหารของโลกเพราะ
          ๑. ทุกคนในโลก เมื่อเกิดแล้วย่อมออกไปจากโลกนี้ไม่ได้ ต่างต้องตายในคุกคือโลกนี้ แม้มีบางคนเคยเล็ดลอดออกไปถึงดวงจันทร์ได้ แต่ดวงจันทร์ก็เป็นเพียงคุกบริวารของโลก สุดท้ายคนเหล่านั้นก็ต้องกลับมาตายในโลก
          ๒. เนื่องจากทุกคนต่างรู้ว่าตนเอง ถึงอย่างไรวันหนึ่งก็ต้องตาย คือ ต้องถูกประหารแน่ ๆ เพียงแต่ไม่รู้วันตายจึงกลายเป็นนักโทษรอประหาร ตกอยู่ในความหวาดกลัวความตายตลอดชีวิต
          ๓. กฎแห่งกรรมตราไว้สั้น ๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่ไม่มีการอธิบายขยายความใด ๆ ทั้งสิ้น ท่านผู้รู้จริงจึงได้เมตตาขยายความให้ฟังว่า คำว่า กรรม แปลว่า การกระทำ มีความหมาย ๓ ประการ ได้แก่
               ๓.๑ กรรมเป็นการกระทำที่เกิดจากเจตนา คือ ตั้งใจทำ
               ๓.๒ กรรมเป็นการกระทำของคนที่ยังมีกิเลส คือ ผู้ที่ยังมีโรคประจำใจ  ได้แก่ โรคโลภะ โรคโทส: โรคโมหะถ้าหมดกิเลสแล้วเช่นเดียวกับท่านผู้รู้จริง การกระทำของท่านก็ล้วนไม่เป็นกรรม เป็นแต่เพียงกิริยาอาการเท่านั้น
               ๓.๓ กรรมเป็นการกระทำที่ยังมีการให้ผลต่อไปอีก หลังจากเสร็จการกระทำนั้นแล้ว โดยคนเรากระทำกรรม ได้ ๓ ทาง คือ
                      ๑) ทางกาย คือ การใช้มือ เท้า และอวัยวะอื่น ๆ กระทำ เรียกว่า กายกรรม
                      ๒) ทางวาจา คือ การพูด เรียกว่า วจีกรรม
                      ๓) ทางใจ คือ การคิด เรียกว่า มโนกรรม
 
 

ความไม่รู้ที่ค้างคาใจทุกคนคือ

เราคือใคร ก่อนเกิดมาจากไหน
ตายแล้วจะไปไหน ตายเมื่อไหร่
ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม
เพราะไม่รู้จริงในสิ่งเหล่านี้
จึงเป็นเหตุให้ขาดความมั่นใจในตนเอง
แม้ขณะทำความดี
 

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ : ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๓

สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

ตอน

 ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๓

          ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความสกปรก ไม่มีทารกคนไหนที่พึ่งคลอดออกมาแล้วเนื้อตัวสะอาด ไม่เปื้อนเลือด ไม่เปื้อนน้ำเหลือง เมือกจากครรภ์มารดาท่วมตัวตั้งแต่หัวจรดฝ่าเท้า และนับแต่วินาทีที่คลอดนั้นเป็นต้นมา จนเติบใหญ่ กระทั่งตลอดชีวิต มนุษย์มีแต่สิ่งสกปรกไหลออกจากทวารทั้ง ๙ ของตน ไม่ว่างเว้นแม้วินาทีเดียว ไม่ว่าสิ่งที่ออกมานั้นจะเป็นลมหายใจ เป็นของเหลว เช่น น้ำมูก น้ำลาย เหงื่อ ปัสสาวะ จะเป็นของแข็ง เช่น อุจจาระ ขี้ไคล ขี้ตา ล้วนสกปรกทั้งสิ้น และสุดสกปรกส่งท้ายชีวิตของแต่ละคน คือ ศพของผู้นั้นเอง ที่จะส่งกลิ่นเหม็นเน่า จึงต้องตกเป็นภาระให้คนข้างหลังต้องจัดการให้สะอาดเรียบร้อยต่อไป
          ดังที่ท่านผู้รู้จริงได้กล่าวไว้ว่า "กายของเราทุกคนต่างเน่าเปื่อยอยู่เป็นนิจ เพราะฉะนั้นไม่ว่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัยเล็ก ๆ แค่กระต้อบกลางนาหรือมหาราชวังใหญ่โต รวมถึงยารักษาโรคทุกชนิด ซึ่งเดิมนั้นแสนสะอาดปานใดก็ตาม ถ้ามาถูกต้องกับกายของเราเข้า ย่อมสกปรกเปื้อนเปรอะน่าเกลียดอย่างยิ่ง เหมือนกันหมด ไม่มีเว้นเลยแม้แต่คนเดียว" เพราะเหตุนี้ ถ้าใครเกิดมาแล้วแม้ไม่ทำความชั่วใด ๆ เลย แต่ไม่ตั้งใจทำความดีให้สุดชีวิตของตน ย่อมได้ชื่อว่า คนขยะ คนรกโลกอยู่นั่นเอง
          ถ้าใครเผลอสติหงุดหงิดกับความสกปรกที่เกิดจากตนเองแล้ว แต่ไม่พยายามฝึกฝนตนให้รู้จักทำความสะอาดจัดระเบียบร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้ ตลอดจนควบคุมกำจัดความสกปรกที่ออกมาจากร่างกายตนเองให้ถูกวิธี มีนิสัย มักง่าย ชอบโยนภาระการทำความสะอาด การจัดระเบียบให้ผู้อื่นทำแทน เอาแต่หงุดหงิดขาดความรับผิดชอบ ก็จะเป็นคนสกปรกทั้งกายและใจ ความชั่วอื่น ๆ จะก่อเกิดตามมา และกลายเป็นผู้เพาะปัญหาสังคมและปัญหาเศรษฐกิจให้ระบาดอย่างไม่รู้จบแก่ผู้คนทั้งโลก ซึ่งความชั่วที่เกิดจากความมักง่ายนี้ ดังภาพที่ ๑๑
          ตรงกันข้ามหากเราเองแม้ไม่ได้มีอำนาจวาสนาพิเศษใด ๆ แต่ตั้งใจศึกษา ฝึกฝนอบรมตนเอง ให้สามารถป้องกันกำจัดความสกปรกจากกายตนให้ลดลง ทำความสะอาด จัดระเบียบทั้งร่างกาย สิ่งของได้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อนเพราะความสกปรกนั้น ๆ ก็จัดว่าเป็นความดีได้ระดับหนึ่ง เพราะแม้ทั้งโลกยังไม่สะอาดแต่ก็ไม่ได้สกปรกเพราะเรา หากเราตั้งใจชักชวนคนรอบข้างให้ช่วยกันทำความสะอาด จัดระเบียบทั้งร่างกาย สิ่งของต่าง ๆ เช่นเดียวกัน และร่วมใจกันชักชวนต่อ ๆ กันไป วันหนึ่งโลกทั้งโลกก็อาจสะอาดได้ด้วยหนึ่งสมองสองมือของมนุษย์โดยไม่ยากจนเกินไป

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

 


สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ : ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๑ และ ๒

 สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

ตอน

ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๑

          ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้จริงอะไรเลย ทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่หลังจากเกิดแล้วทั้งสิ้น สิ่งที่เรียนรู้ภายหลังแต่ละอย่างก็อาจมีทั้งรู้ผิดและรู้ถูก แม้รู้ถูกก็อาจจะรู้ไม่ครบ รู้ไม่ลึก ตัวอย่างความไม่รู้ที่ค้างคาใจทุกคนคือ
          เราคือใคร เกิดมาทำไม ก่อนเกิดมาจากไหน จะตายเมื่อไหร่ ตายแล้วจะไปไหน ที่สำคัญที่สุด คือ เกิดมาทำไม เพราะเป็นเหตุให้เราขาดความมั่นใจตนเองแม้ขณะทำความดี เพราะไม่รู้แน่ชัดว่า ดี-ไม่ดี ตัดสินอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะเกิดผลร้ายตามมาอย่างไรแน่
          นอกจากไม่รู้อะไรจริง คนส่วนใหญ่ยังไม่พยายามหาคำตอบ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องรู้ไปทำไม ตลอดชีวิตแต่ละคนจึงทำผิดทำพลาดให้ตนเองและผู้อื่นต้องเดือดร้อนเสมอ เป็นเหตุให้มนุษย์มีความกลัวฝังลึกอยู่ในใจ แล้วกลายเป็นโรคกลัวนานาชนิดตามมา ซึ่งโรคกลัวที่หนักหนาสาหัสที่สุดของทุกคน คือ โรคกลัวตาย

ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๒

          ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความทุกข์ ทราบได้จากอาการของทารกแรกเกิด ทันทีที่คลอดจากครรภ์มารดา ไม่มีทารกคนใดหัวเราะหรือยิ้ม มีแต่เสียงร้องไห้จ้าลั่นโลก ราวกับต้องการประกาศให้โลกรู้ว่า ข้าพเจ้าเกิดมาพร้อมกับความทุกข์ คือ เริ่มเป็นทุกข์จากการเกิด โดยเกิดมาพร้อมกับโรคประจำกาย ๖ และโรคประจำใจ ๓ โรคประจำกาย ๖ นี้
แม้หมอเทวดาก็รักษาไม่หาย ทุกคนต้องเกิดและตายพร้อมกับมัน ซึ่งได้แก่  ๑) โรคหนาว ๒) โรคร้อน ๓) โรคหิว ๔) โรคกระหาย ๕) โรคปวดอุจจาระ ๖) โรคปวดปัสสาวะ ส่วนโรคประจำใจ  นั้น ได้แก่ ๑) โรคโลภะ ๒) โรคโทสะ ๓) โรคโมหะ ซึ่งฝังติดอยู่ในใจเราตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อใดเราขาดสติ โรคประจำใจ ๓ นี้จะคอยบีบคั้นให้เราต้องทำ
กรรมชั่วต่าง ๆ หนักบ้าง เบาบ้าง ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่าโรคประจำกาย ๖ และโรคประจำใจ ๓ นี้เอง ที่เป็นต้นเหตุแท้จริงของปัญหาต่าง ๆ ทั้งโลก ซึ่งโรคประจำกาย ๖ และโรคประจำใจ ๓ นี้ ดังภาพที่ ๑๐
          ทันทีที่ทารกคลอดจากครรภ์มารดา โรคประจำกาย ๖ จะบังคับให้ทารกต้องทุกข์กับโรคปวดอุจจาระ-ปัสสาวะ จากการขับของเสียออกจากร่างกาย และยังต้องมีปัจจัย ๔ มารองรับ ได้แก่ ๑) อาหารและน้ำ เพื่อป้องกันโรคหิว-กระหายกำเริบ ๒) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ๓) ที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันโรคหนาว-ร้อนกำเริบ ๔) ยารักษาโรค เพื่อป้องกัน
โรคร้ายต่าง ๆ ที่พร้อมจะกลุ้มรุมเข้ามาทำร้าย ซึ่งทารกย่อมหาปัจจัยเองไม่ได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองตระเตรียมไว้ให้
          หากพ่อแม่ผู้ปกครองปล่อยปละละเลย ปฏิบัติผิดต่อโรคประจำกาย ๖ ของลูกน้อยเป็นประจำ กว่าลูกจะโตย่อมเกิดโรคกายอีกนานาชนิดตามมา ทั้งโรคใหม่และโรคเก่ารวมกันเข้า ย่อมก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาสุขภาพนี้จะบีบคั้นครอบครัวให้ต้องมีภาระค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายปกติที่เป็นภาระหนักอยู่แล้ว เมื่อขาดแคลนก็ต้องแย่งกัน กินแย่งกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  ปัญหาความยากจนย่อมก่อเกิดในครัวเรือนและสังคมตามมาจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เมื่อเกิดความขาดแคลน ความเห็นแก่ตัวย่อมเกิดขึ้น แม้เป็นเด็กก็พร้อมจะหวง ไม่อยากแบ่งปันอะไรกับใคร ๆ แม้ขนม นม เนย ของเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ กับพี่น้องของตนเอง
          เมื่อเติบใหญ่ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาขาดแคลน รวมทั้งความหวงสิ่งของเก่าอยากได้สิ่งของใหม่ ย่อมบีบบังคับใจให้แวบออกนอกกายเพื่อไปแสวงหาปัจจัย ๔ และสิ่งของต่าง ที่ตนปรารถาอยากได้ถี่ขึ้น ๆ เพื่อตอบสนองความอยากที่ไม่รู้จบ แม้ในสิ่งของที่ไม่ใช่สิ่งของของตน คือ โรคโลภะกำเริบ ซึ่งก็ได้มาบ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าไม่ได้ก็ขัดเคืองใจ คือ โรคโทสะกำเริบ ถ้าได้สิ่งของที่ถูกใจมาแล้ว ก็เกิดโรคโมหะกำเริบ คือ หลงโง่ว่า สิ่งที่ได้มาแล้วนั้นจะอยู่กับตนนาน ๆ แต่ต้องผิดหวัง เพราะสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้มานั้นเป็นธรรมชาติว่า ทุกสิ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่ได้ชั่วครู่ยามสุดท้ายก็แตกดับไป ใจจึงกลับเป็นทุกข์ชนิดใหม่ คือ เกิดทุกข์เพราะความพลัดพรากจากของรักของชอบใจนั้น ใจก็ถูกบังคับเพราะความอยากได้ใหม่อีก ความวนเวียนเป็นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจเช่นนี้จึงเกิดไม่รู้จบตลอดชีวิต กลายเป็นว่า ตลอดชีวิตของผู้คนทั้งโลกมีแต่ความทุกข์ไม่รู้จบ ตั้งแต่ทุกข์จากการคลอด ทุกข์จากโรคประจำกาย ๖ ทุกข์จากการแสวหาทรัพย์ ถ้าไม่ได้ก็ทุกข์เพราะเสียใจ ได้มาไม่นานก็ทุกข์เพราะพลัดพราก ถ้าพบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ทุกข์เพราะขัดใจ แม้ถึงคราวต้องตายก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ คือ ทุกข์เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน เพราะคนทั่วไปหากไม่ได้ฟังธรรมจากท่านผู้รู้จริง ย่อมขาดสติสัมปชัญญะ ถูกโรคโง่โมหะท่วมใจจนกระทั่งตาย โรคประจำใจ ๓ ที่ฝังอยู่ในใจมาตั้งแต่เกิดนี้ยังไม่จบ ยังหมักหมมใจหนาแน่นยิ่งขึ้นและฝังลึกในใจตามไปชาติหน้าอีกด้วย 
 

 

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ ตอน ความสำคัญของการฝึกสติสัมปชัญญะในระดับครอบครัว


สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

ตอน

ความสำคัญของการฝึกสติสัมปชัญญะในระดับครอบครัว 

ความสำคัญของการฝึกสติสัมปชัญญะในระดับครอบครัว
          พ่อแม่ผู้ปกครองที่ใจใส ในระดับที่ตระหนักเห็นคุณประโยชน์ของการเจริญสมาธิภาวนาเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะ ว่า ก่อให้เกิดปัญญาจากภายในมากเช่นนี้ ย่อมตัดใจสละเวลาระหว่างวัน เพื่อเจริญสมาธิภาวนาแม้เพียงชั่วโมงละ ๑ นาที โดยนั่งเจริญสมาธิภาวนาหรือนำใจมาเก็บรักษาไว้ที่กลางกายขณะที่ทำภารกิจต่าง ๆ ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แม้ขณะอยู่ในห้องน้ำเป็นประจำ ไม่ช้าพ่อแม่ผู้ปกครองท่านนั้น ย่อมเห็นได้ด้วยตนเองอีกว่า การที่ตนตั้งหน้าตั้งตาอบรมสั่งสอนลูกหลานให้รักความสะอาด จัดระเบียบสิ่งของอย่างถูกวิธีและทำทันทีนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปลูกฝังให้ลูกหลานไม่มักง่าย ซึ่งถือว่าเป็นการละชั่วขั้นต้น และเป็นการทำความดีขั้นพื้นฐานของมนุษยชาติอีกด้วยซึ่งการฝึกสติสัมปชัญญะนั้นทำได้โดย

  •  การสอนลูกให้อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ทำความสะอาดร่างกายทุกซอกมุมอย่างนุ่มนวลถูกวิธี
  •  การสอนลูกให้ทำความสะอาดของเล่นและของใช้ส่วนตัวให้ถูกวิธี
  •  การสอนลูกให้จัดเก็บ เรียง ช้อน ของที่ทำความสะอาดแล้ว เป็นแถว เป็นแนว เป็นชั้นอย่างถูกวิธี
  •  การสอนลูกให้รีบล้างถ้วย จาน ช้อน ชาม ทันทีที่รับประทานอาหารเสร็จให้ถูกวิธี
  •  การสอนลูกให้กิน นอน ตื่น ขับถ่ายเป็นเวลาตั้งแต่ยังเล็ก ฯลฯ

          เมื่อฝึกอย่างนี้แล้ว จึงมั่นใจได้ว่าลูกหลานจะมีสุขภาพดี แข็งแรง เจริญเติบโตสมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่สอนให้ลูกทำกิจวัตร ทำความสะอาด และจัดระเบียบไป ก็ชี้เหตุแสดงผล ติชมไปแบบสบาย ๆ อารมณ์ดี ลูกย่อมรู้สึกอบอุ่นใจ ใจลูกจึงไม่แล่นออกไปนอกตัว ไม่ไปติดเกม ไม่ไปติดเรื่องไร้สาระต่าง ๆ และการได้ทำความสะอาด จัดระเบียบด้วยมือของตนเอง จะเป็นเครื่องดึงดูดใจ ให้พอใจ สบายใจ มีสติดึงใจให้หยุดมั่นอยู่กลางกายตามพ่อแม่ไปโดยอัตโนมัติ
          แน่นอนว่า หากพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหลาย ตื่นตัวขึ้นมาปฏิบัติกิจวัตรเก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ คือ ๑) กิจวัตรสวดมนต์ ๒) กิจวัตรเจริญสมาธิภาวนา ๓) กิจวัตรเก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ อย่างทั่วหน้า มั่นใจได้ว่าลูกหลานทุกคนเมื่อโตขึ้น ย่อมรู้ด้วยใจว่าพ่อแม่ผู้ปกครองรักตนมากขนาดไหน พี่ก็รู้ว่าน้องรักตน น้องก็รู้ว่าพี่รักตน โดยรู้จากคำติชม ความเหนื่อย ความสนุกไปด้วยกัน ขณะทำความสะอาด จัดระเบียบ การเอาใจเขาใส่ใจเรา เอาใจเราใส่ใจเขา แล้วกลายเป็นความเห็นใจ ถนอมใจกัน ที่สำคัญเมื่อโตขึ้น ลูกหลานทุกคนย่อมรู้จักถนอมใจพ่อแม่ผู้ปกครอง ไม่ยอมทำอะไรที่ไม่หมาะสม ไม่ดีงามให้พ่อแม่ผู้ปกครองช้ำใจ เกิดหิริโอตตัปปะ มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป กลัวพ่อแม่ผู้ปกครองจะเสียใจเพราะความประพฤติไม่เหมาะสมของตน เมื่อเป็นดังนี้ลูกจะเป็นคนช่างสังเกต มีความเคารพต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง มีระเบียบวินัย มีความอดทน และมีความเสียสละเพิ่มมากขึ้น
          พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ยอมสละเวลาอันมีค่าขณะประกอบอาชีพประจำวันเพียง 3 นาทีต่อชั่วโมง เจริญสมาธิภาวนาเพื่อเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะเป็นประจำอย่างไม่ลดละ ต่อไปไม่นานท่านเหล่านั้น ย่อมเห็นความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ประการที่ถูกมองข้ามมานานแสนนาน และจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเหล่านั้น ยิ่งต้องเร่งฝึกสติเก็บใจไว้ในกายให้หยุดนิ่งมั่นคงยิ่งขึ้น และรีบเตือนสติให้ชาวโลกตระหนักถึงอันตรายเหล่านั้น เร่งรีบฝึกสติตามมาด้วย

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน 

กิจวัตรเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ

          ทุกครั้งที่ใจแวบออกไปนอกกาย ใจย่อมไม่อาจควบคุมตัวเองได้ เพราะตาก็จะฉุดให้ไปดูรูปที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง หูก็จะฉุดให้ไปฟังเสียง จมูกก็จะฉุดให้ไปดมกลิ่น ลิ้นก็จะฉุดให้ไปลิ้มรส กายก็ฉุดให้ไปสัมผัสสิ่งของ และใจก็จะฉุดไปคิดเรื่องที่น่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้าง จึงมีทั้งรูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส-เรื่องราวที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจแย่งกันมากระทบกระทั่งใจ ใจจึงขุ่น มีสภาพล้มลุกคลุกคลาน คือ ยินดีเมื่อได้ ยินร้ายเมื่อเสีย ต่อสิ่งที่มากระทบ และคร่ำครวญเมื่อสิ่งที่ตนพอใจต้องเปลี่ยนแปรผันเป็นอื่นไปตามกฎอนิจจัง คือ อะไรก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น สุดท้ายก็ต้องดับไป เพราะแม้แต่ตัวเราเองยังต้องแก่ เจ็บ ตาย
          ขอเพียงไม่ดูเบา ตั้งใจเจริญสมาธิภาวนาเพิ่มพูนสติ ไม่ยอมว่างเว้น ใจที่เคยแวบหนีออกเที่ยวก็จะกลับเชื่องลงอยู่กลางกายนานขึ้น แล้วจะรู้สึกเองว่าใจสดชื่นขึ้น ผ่องใสขึ้นไปตามลำดับ ๆ ด้วยกิจวัตร เก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ
          ๑. กิจวัตรสวดมนต์ เช้า-เย็น เป็นประจำ
          ๒. กิจวัตรเจริญสมาธิภาวนา เช้า-เย็น เป็นประจำ ใครถนัดกำหนดใจให้หยุดนิ่งในกายด้วยวิธีไหนก็ใช้วิธีนั้น เช่น กำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือกำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วใส หรือพระพุทธรูปใสไว้กลางกายอย่างน้อยครั้งละ ๑๕-๓๐ นาที ดังภาพที่ ๗


          ๓. กิจวัตรเก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งกลับเข้านอน คือ ไม่ว่าจะอาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน รับประทานอาหาร ล้างจาน ซักผ้า ขัดห้องน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ขับรถ ทำการงาน เลี้ยงชีพ ขณะทำงานเหล่านั้นไป ก็ทำใจว่างโปร่งโล่งเบาไป พร้อมกับประคองเก็บรักษาใจไว้กลางกาย อาจประคองด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก กำหนดนิมิตเป็นดวงแก้วหรือพระพุทธรูปใส ๆ ก็ได้ ดังภาพที่ ๘


           หลังจากปฏิบัติกิจวัตรเก็บใจไว้กลางกาย ๓ ประการ อย่างต่อเนื่อง ๓ สัปดาห์ ย่อมรู้ตัวเองว่าใจผ่องใสขึ้นมาตามลำดับ แม้มีเรื่องวุ่นวายใดมากระทบระหว่างวันก็สามารถปล่อยผ่านและแก้ไขเหตุการณ์ได้ง่าย ใจก็กลับผ่องใสได้รวดเร็ว สิ่งใดที่เคยรู้สึกว่าเข้าใจยากก็กลับเข้าใจง่ายเพราะความผ่องใสของใจที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ เมื่อปฏิบัติต่อเนื่องต่อไป ไม่ช้าย่อมเข้าใจถูกวัตถุประสงค์แท้จริงของการใช้ปัจจัย ๔ แต่ละชนิด ดังภาพที่ ๕ ตรงตามที่ท่านผู้รู้จริงได้กล่าวไว้ อันเป็นต้นทางของความมีสติระลึกถึงความจริงสิ่งที่ต้องทำ คำที่ต้องพูด และมีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า
          ๑. ก่อนใช้พึงมีสติระลึกได้ว่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม แท้จริงมีไว้เพื่อ ๑) ป้องกันบำบัดความร้อน ความหนาวจากภายนอกและโรคร้อน โรคหนาวภายในกาย ๒) ป้องกันบำบัด เหลือบ ยุง ริ้น ไร สัตว์เลื้อยคลานไต่ตอม และลมกระโชกแรง แสงแดดแผดเผา ๓) ปกปิดอวัยวะกันอาย มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้มีไว้โชว์ความร่ำรวย สวย หล่อ หรือยั่วกามราคะใคร
          ๒. ก่อนใช้พึ่งมีสติระลึกได้ว่า ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นกระต๊อบเล็กหรือคฤหาสน์ใหญ่ แท้จริงมีไว้เพื่อ ๑) ป้องกันบำบัดความร้อนความหนาวจากภายนอก และโรคร้อนโรคหนาวจากภายในกาย ทำนองเดียวกับเสื้อผ้า ๒) ป้องกันบำบัดเหลือบ ยุง ลิ้น ไร สัตว์เลื้อยคลานทั้งน้อยใหญ่ และลมแดด ๓) ป้องกันบำบัด ฝน ฟ้า อากาศคะนองกระหน่ำทำอันตรายคนให้ป่วยไข้และทรัพย์สินให้เสียหาย ๔) เป็นที่ทำงาน ประกอบกิจส่วนตัว ร่วมอยู่เป็นสุขกับครอบครัว พอสบาย มีสัมปชัญญะ รู้ตัวว่าที่อยู่อาศัยไม่ได้มีไว้อวดอำนาจวาสนา ให้เปลืองค่ใช้จ่าย
          ๓. ก่อนกิน ดื่มพึ่งมีสติระลึกได้ว่า อาหารและเครื่องดื่ม แท้จริงก็ ๑) กินเพื่อแก้โรคหิว ดื่มแก้โรคกระหาย ให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตสมวัย ไม่หาโรคมาใส่กาย ผลิตพลังงานเลี้ยงกายให้อบอุ่น มีอายุขัยยืนยาว ๒) เพื่อให้มีเรี่ยวแรงประกอบอาชีพ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่าอาหาร เครื่องดื่ม ไม่ได้มีไว้เพื่อความเมามันทรงพลัง ประดับตกแต่งให้สวยให้งาม บำรุงกาม อวดเด่น อวดรวย อวดกล้าผลาญทรัพย์ ทำลายศีล เหยียบย่ำธรรมให้เสียผู้เสียคน
          ๔. ก่อนใช้พึงมีสติระลึกได้ว่ายารักษาโรค แท้จริงก็เพื่อ ๑) ป้องกันบำบัดทุกข์จากโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอันเกิดจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ๒) ป้องกันบำบัดโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายอันเกิดจากความประมาทในการป้องกันบำบัดโรคอันเกิดจากภายในทั้งโรคร้อน โรคหนาว โรคหิว โรคกระหาย โรคปวดอุจจาระ โรคปวดปัสสาวะ มีสัมปชัญญะรู้ตัวว่า ยารักษาโรคไม่ได้มีไว้บำรุงกาม บำเรอความสุขต่ำาง ๆ ให้หลงใหลมัวเมา
          เมื่อใจผ่องใสเพิ่มขึ้นมากเท่าไร ยิ่งเห็นชัดขึ้นมาในใจด้วยตนเองว่า ขุมทรัพย์ทางปัญญาของมนุษย์ ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ แต่เก็บไว้มากมายมหาศาลที่ศูนย์กลางกายของตนเอง มีปริมาณมากยิ่งกว่าความรู้จากห้องสมุดทั้งโลกมากองรวมกัน รอเวลาให้ผู้นั้น ตั้งสติมั่นเก็บใจไว้ในกายนิ่ง ๆ นาน ๆ อย่างสบาย ๆ ได้ชำนาญพอ แล้วความจริงอย่างลึกซึ้งในสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมหลั่งไหลออกมาให้รู้แจ้งแจ่มชัด ตรงตามที่ท่านผู้รู้จริงได้กล่าวไว้อย่างแน่นอน


 กิจวัตรเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ

สวดมนต์เช้า-เย็นเป็นประจำทุกวัน
เจริญสมาธิภาวนาเช้า-เย็นเป็นประจำทุกวัน
เก็บรักษาใจไว้กลางกายเป็นประจำ
ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งกลับเข้านอน

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๔ "สัมปชัญญะ" : หลักการทำงานอย่างชาญฉลาดเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะ

 

สัมปชัญญะ 

ตอน หลักการทำงานอย่างชาญฉลาดเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะ


          การที่บุคคลใดจะทำงานท่ามกลางความสับสนของโลกกว้าง บุคคลนั้นพึงมีหลักการทำงานเพื่อดำรงชีวิตอย่างชาญฉลาดไม่งมงาย ดังนี้
          ๑. การทำงานที่ฉลาดจะต้องไม่ก่อให้เกิดหนี้สินใด ๆ มีแต่ทำให้เกิดทรัพย์ไว้เพียงพอหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้อิ่มหนำมีสุขเป็นอย่างน้อย ยิ่งมีเหลือเผื่อทำบุญ ช่วยเหลือผู้อื่นคราวคับขันได้ก็ยิ่งดี
          ๒. การงานที่ฉลาด ไม่งมงายจะต้องเป็นการงานที่ทำให้ผู้ทำงานนั้น ได้โอกาสประคองรักษาใจไว้ในกายตลอดเวลาที่ทำงานนั้น ๆ เป็นการงานที่มีแต่จะทำให้ผู้ทำงานใจผ่องใสยิ่งขึ้น และหลีกเลี่ยงการทำงานที่ทำให้ใจขุ่นมัวทุกชนิด แม้การทำงานนั้นจะทำให้ร่ำรวยล้นฟ้าปานใดก็ตาม แต่การมีสติหมั่นเก็บใจไว้ในกายจะรักษาใจให้ผ่องใส
เป็นการป้องกันใจไม่ให้คิดเห็นผิด ๆ แล้วสั่งการกายให้พูดผิด ๆ ทำผิด ๆ เพิ่มทุกข์เดือดร้อนแก่ตนเอง ที่สำคัญการงานที่ฉลาด ไม่งมง่าย เป็นการงานที่กำจัดโลภะ โทสะ โมหะ ให้ลดลงอีกด้วย
          ๓. การงานที่ฉลาดนั้น จะต้องเปิดโอกาสให้ได้สร้างผู้มีสติสัมปชัญญะรุ่นใหม่และสร้างเครือข่ายคนดีมีสติสัมปชัญญะ ไว้พัฒนาสังคมประเทศชาติให้สะอาด มีระเบียบยิ่ง ๆ ขึ้นไป
          เพราะการทำงานอย่างชาญฉลาด มีสติสัมปชัญญะจึงทำให้ ๑) รู้ตัวว่าการงานนั้นมีประโยชน์จริง ๒) รู้ตัวว่างานนั้นเหมาะกับตนจริง ๓) รู้ตัวว่างานนั้นสะดวกสบายจริง ๔) รู้ตัวว่างานนั้นฉลาดจริง ย่อมเป็นการทำงานที่มีแต่เพิ่มพูนความสุขกำจัดทุกข์ไปพร้อม ๆ กัน และเป็นงานที่ช่วยกล่อมเกลาให้ผู้คนในสังคมนั้น ๆ มีใจผ่องใส รักการหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีสุจริต ไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่นไปพร้อม ๆ กันด้วย จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้คนทั้งโลกพึงรีบขวนขวายลุกขึ้นมาฝึกฝนตนเอง สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านและผู้ร่วมสังคม ให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตลอดเวลาในการทำงานตั้งแต่บัดนี้
          โดยเริ่มต้นฝึกเก็บใจไว้กลางกายเบา ๆ ง่าย ๆ สบาย ๆ หมั่นสังเกต และทำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับการทำกิจวัตรส่วนตัวตั้งแต่ตื่นเช้าจนกระทั่งกลับเข้านอน
          หลังจากทำใจจรดกลางกายจนชำนาญขณะทำงานเป็นประจำ คำถามทำนองเหล่านี้จะผุดขึ้นมาเอง จากนั้นจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความหยุดนิ่งของใจ คำตอบย่อมผุดขึ้นเองจากใจใส ๆ นั้น และคำตอบก็จะละเอียดไปตามลำดับ ดังเช่น
          คำถามที่ ๑ ตัวเราเองและคนทั้งโลก ทำไมจึงต้องทำงานประกอบอาชีพแทบไม่มีวันหยุด
          คำตอบที่ ๑ แม้แต่ละวันคำตอบจะมีหลายอย่างต่างกันไป แต่สุดท้ายเมื่อรักษาใจไว้นิ่ง ๆ ในกลางกายดีพอก็จะเหลือเพียงคำตอบเดียว คือ เพราะเราต่างต้องมีค่าใช้จ่ายประจำทุกวันไม่อาจหลีกเสี่ยงได้ เพื่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ถ้าใครไม่อยากเหนื่อยมาก ก็ต้องรู้ประมาณให้ครบทั้ง ๓ ประการ คือ
               ๑) รู้ประมาณการทำงานหาทรัพย์
               ๒) รู้ประมาณการเก็บรักษาทรัพย์
               ๓) รู้ประมาณการใช้ทรัพย์อย่างเหมาะสม
          คำถามที่ ๒ ค่าใช้จ่ายของแต่ละคน แต่ละเพศ แต่ละวัย ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน แม้ต่างคนต่างประหยัดสุด ๆ แล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ใช้จ่ายเท่าไร คือ การรู้ประมาณ
          คำตอบที่ ๒ ค่าใช้จ่ายของทุกคนในโลกแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท
               ๑) ประเภทค่าใช้จ่ายตามอำเภอใจ ถ้าไม่มีก็แล้วไป จึงต้องวางไว้ก่อน เลือกพิจารณาประเภทค่าใช้จ่ายจำเป็นเท่านั้น
               ๒) ประเภทค่าใช้จ่ายจำเป็นจะขาดไม่ได้ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย ต่างมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงเพียง ๒ งบ งบแรก คือ ค่าปัจจัย ๔ โดยเฉพาะ และงบที่สอง คือ สิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔
              งบแรก ค่าปัจจัย ๔ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับ
  •  อาหาร เครื่องดื่ม
  •  เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
  •  ที่อยู่อาศัย
  •  ยารักษาโรค
              ปัจจัยทั้ง ๔ ประการนี้ ตลอดชีวิตใคร ๆ ก็ขาดแม้เพียงวันเดียวไม่ได้
             งบที่สอง สิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔ ได้แก่
  • สิ่งที่เนื่องด้วยอาหาร เครื่องดื่ม เช่น ถ้วย จาน ช้อน ชาม กระทะ หม้อ เป็นต้น
  • สิ่งที่เนื่องด้วยเสื้อผ้า เช่น สบู่ น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องซักผ้า แปรงซักผ้า เตารีด เป็นต้น
  • สิ่งที่เนื่องด้วยที่อยู่อาศัย เช่น โต๊ะ เตียง ตั่ง เก้าอี้ ไม้กวาด เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น
  • สิ่งที่เนื่องด้วยยารักษาโรค เช่น เข็มฉีดยา ผ้าพันแผล สำลี แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เป็นต้น
         หากควบคุมค่าใช้จ่ายปัจจัย ๔ โดยตรง และสิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔ให้พอเหมาะกับรายได้ของตน โดยไม่ทำให้ตนต้องตกเป็นหนี้ แต่พอมีเหลือเผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินบ้าง ก็ถือได้ว่าเป็นความรู้ประมาณในปัจจัย ๔ ของผู้นั้น และจัดได้ว่าเป็นการยกระดับความฉลาดไม่งมงาย ไม่ประมาทของผู้นั้นได้อีกระดับหนึ่งด้วย ซึ่งการดำรงชีวิตแบบฉลาดและโง่งมงาย ดังภาพที่ ๕ และ ๖ 
 

 

ขณะที่เราทำการงานเพื่อดำรงชีวิตอยู่นั้น

มีสองสิ่งที่เราต้องเสียไปโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
และเรียกคืนกลับมาไม่ได้ คือ
๑) เสียเวลาชีวิต เพราะร่างกาย
ต้องแก่ลงไปเปล่า ๆ อย่างไร้แก่นสาร
๒) เสียโอกาสทำความดีอย่างอื่น
 

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๔ "สัมปชัญญะ" : ลักษณะความรู้ตัว ๔ ของผู้ทำงานอย่างมีสติสัมปชัญญะ

 สัมปชัญญะ 

ลักษณะความรู้ตัว ๔ ของผู้ทำงานอย่างมีสติสัมปชัญญะ

       ผู้ทำงานวงกว้างจำเป็นต้องตระหนักเบื้องต้นก่อนว่า งานใดถ้าเป็นงานใหญ่เกิดผลประโยชน์มาก ย่อมส่งผลกระทบทั้งด้านดีและเสียต่อผู้ทำการงานนั้นโดยตรงก่อน แล้วกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบตามมาอีกมากมายด้วย เพื่อป้องกันความเสียหายทำลายประโยชน์ทั้งส่วนตนและส่วนรวม ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ผู้ทำงานนั้นจำเป็นต้องศึกษาให้รู้ชัดถึงลักษณะความรู้ตัว ๔ ประการ ของผู้ทำงานอย่างมีสัมปชัญญะที่พึงมีให้ครบ ได้แก่
     ๑. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า การงานที่ตนกำลังทำนั้นมีประโยชน์หรือโทษกับตนเองหรือผู้อื่นกันแน่
     ๒. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า การงานที่ตนกำลังทำนั้นเหมาะกับตนเองจริงหรือไม่
     ๓. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า วิธีการที่ตนกำลังใช้ทำงานนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่
     ๔. ผู้ทำงานพึงรู้ตัวว่า การงานที่ตนกำลังทำนั้นเป็นความฉลาดหรืองมงายกันแน่
ความรู้ตัวทั้ง ๔ ลักษณะนี้ เป็นองค์ประกอบของสัมปชัญญะ ที่ถือว่ามีอุปการะมาก เพราะเป็นตันทางแห่งการป้องกันแก้ไข พัฒนางานทุกด้านอย่างสมบูรณ์ ทั้งการงานทางโลกและการงานทางธรรม คือ เป็นการทำงานด้วยความระมัดระวัง เพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์ชาตินี้ และประโยชน์ชาติหน้าไปพร้อม ๆ กัน โดยลักษณะความรู้ตัว ๔ ประการ ของผู้ทำงานอย่างมีสัมปชัญญะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
     ๑. พึงรู้ตัวว่า การงานที่กำลังทำนั้นมีประโยชน์จริงหรือไม่ มีมากหรือน้อยขนาดไหน โดยพิจารณาจากผลกระทบ ๘ ด้าน ได้แก่  ๑) สุขภาพร่างกาย ๒) สุขภาพจิต ๓) ทรัพย์สินรายได้ ๔)นิสัยและศีลธรรมประจำใจ ทั้งส่วนตน ครอบครัว ชุมชน ส่วนรวม ๕) สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ๖) สิ่งแวดล้อมที่เป็นสัตว์น้อยใหญ่ ในบริเวณนั้น ๗) สิ่งแวดล้อมที่เป็นสิ่งก่อสร้างตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้  ๘) สิ่งแวดล้อมที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีดีงาม กฎหมายบ้านเมือง และศาสนา
      ผลดีผลได้ ผลร้ายผลเสียทั้ง ๘ ด้านนี้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะขณะที่เราทำการงานอยู่ มีสองสิ่งที่เราต้องเสียไปโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง และเรียกคืนกลับมาไม่ได้ คือ ๑) เสียเวลาชีวิต เพราะร่างกายต้องแก่ลงไป เปล่า ๆ อย่างไร้แก่นสาร ๒) เสียโอกาสทำความดีอย่างอื่น
      ๒. พึงรู้ตัวว่า การงานที่กำลังทำนั้น เหมาะสมกับตนหรือไม่ โดยพิจารณาอย่างรอบคอบจาก ๑) ความเหมาะต่อภาวะเพศชาย-หญิง คฤหัสถ์-บรรพชิตของตน ๒) ความเหมาะต่อยศ ตำแหน่ง ฐานะ ชาติ ตระกูล อายุ ความรู้ความสามารถ ความถนัดของตน  ๓) ความเหมาะต่อศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณของตน
      ๓. พึงรู้ตัวว่า วิธีการที่ตนกำลังใช้ทำนั้นมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่ เนื่องจากความรู้ ความสามารถ ความถนัด ศีลธรรมประจำใจของตนที่ได้พิจารณาแล้วเบื้องต้น เป็นเพียงองค์ประกอบหรือคุณสมบัติภายในเท่านั้น เมื่อถึงเวลาทำงานจริง จำป็นต้องอาศัยองค์ประกอบภายนอกที่เหมาะสมอีก คือ วิธีการหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จะต้องนำมาใช้ ซึ่งวิธีการหรือเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้นั้น ต้องให้พอเหมาะกับสิ่งแวดล้อมขณะนั้นด้วย จึงจะสะดวกสบายในการทำงานและเพื่อป้องกันไม่ให้หลงใช้วิธีการทำงานที่สิ้นเปลืองเปล่า เป็นทุกข์ไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร จึงต้องอาศัยหลักในการพิจารณาวิธีการหรือเทคโนโลยี ให้เหมาะกับสิ่งแวดล้อม ๕ ประการ ดังต่อไปนี้
          ๓.๑ พิจารณาความเหมาะกับธรรมชาติที่แวดล้อมตั้งแต่ ดิน น้ำ อากาศ ลม แดด ฝน หิมะ แร่ธาตุใต้ดิน บนดิน ภูเขา ป่าไม้ พืชพันธุ์ในเขตนั้น
          ๓.๒ พิจารณาความเหมาะกับสัตว์น้อยใหญ่ที่แวดล้อม ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก แมลง ในเขตนั้น
          ๓.๓ พิจารณาความเหมาะกับนิสัยใจคอของผู้คนในเขตนั้น รวมทั้ง ความรู้ ความสามารถ คำจ้าง แรงงาน
          ๓.๔ พิจารณาความเหมาะกับอุปกรณ์ เครื่องจักร เครื่องมือ สิ่งก่อสร้าง การขนส่ง การสื่อสาร ในเขตนั้น รวมทั้งเตรียมที่ว่าง ขยายทางเพิ่ม เผื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร เครื่องมือ ให้ทันยุคสมัยภายหน้าพอสมควรด้วย เพราะเทคโนโลยีทั้งหลายแม้ทันสมัยขณะนี้ แต่ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขภายหน้าอีกอย่างแน่นอน ต่างแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว
          ๓.๕ พิจารณาความเหมาะกับขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎหมายบ้านเมือง และระเบียบศีลธรรมอันดีงามในเขตนั้น ในภูมิภาคนั้นด้วย ว่าจะต้องไม่มีความเดือดร้อนต่อเรา ต่อผู้อื่นตามมาภายหลัง และไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมใด ๆ อีกทั้งต้องพิจารณาว่า ถูกต้องตรงต่อกฎสากลของโลก คือ กฎแห่งกรรมหรือไม่ ถ้าถูกต้องเหมาะสมก็จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างบริบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใดแก่ใคร ๆ เลย
     ๔. พึงรู้ตัวว่า การทำงานที่ตนกำลังทำนั้นเป็นความฉลาดหรืองมงายกันแน่ เพราะความทุกข์กายทุกข์ใจที่เกิดจากโรคประจำกาย ๖ คือ โรคร้อน-หนาว โรคหิว-กระหาย โรคปวดอี-ปวดฉี่ บีบคั้น ทำให้ใจมนุษย์แต่ละคนชอบที่จะแวบออกนอกกาย  เพื่อแสวงหาบุคคล สิ่งของ และวิธีการคลายทุกข์สร้างสุขให้ตนเองตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังต้องประสบทุกข์มากขึ้นไปอีก ใจของแต่ละคนจึงยิ่งแวบออกนอกกายถี่ขึ้น ๆ จนบางครั้งกลับทำให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม
          แม้ผู้ที่ร่างกายแข็งแรงหากไม่ฝึกเก็บใจไว้ในกายให้มีสติมั่นคง รักษาใจให้ผ่องใสได้ดีพอ ประกอบกับการงานที่กำลังกระทำอยู่ก็ยาก สิ่งแวดล้อม ๕ ก็ไม่เอื้ออำนวย แม้มีความปรารถนาที่จะเป็นคนดีของโลก ความปรารถนาแสนดีนั้นย่อมสลายไป เพราะสัมปชัญญะของเขามอดหมดไป ทำนองเดียวกับโจรและคนสับปลับที่ยกตัวอย่างไว้แล้ว

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๔ "สัมปชัญญะ" : ความหมาย และลักษณะของผู้มีสัมปชัญญะ

สัมปชัญญะ 

ตอน

ความหมายและลักษณะของผู้มีสัมปชัญญะ

       สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว หมายถึง ความรู้ตัวขณะที่กำลังทำ พูด คิดการงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เช่น
                             กำลังล้างหน้า ก็รู้ตัวว่า กำลังล้างหน้า
                             กำลังอาบน้ำ ก็รู้ตัวว่า กำลังอาบน้ำ
                             กำลังอ่านหนังสือ ก็รู้ตัวว่า กำลังอ่านหนังสือ
                             กำลังเดินข้ามถนน ก็รู้ตัวว่า กำลังเดินข้ามถนน
       ความรู้ตัวเหล่านี้ เป็นลักษณะสัมชัญญะที่เกิดขณะทำกิจส่วนตน เมื่อผู้ใดมีสัมปชัญญะเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้นั้นมีอารมณ์ดีอยู่ในอารมณ์เดียวต่อเนื่องและช่างสังเกตโดยปริยาย ช่วยให้สิ่งที่ผู้นั้นกำลังทำลุล่วงด้วยดี นี้จัดเป็น สัมปชัญญะเบื้องต้น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรฝึกลูกหลานของตนทำให้ชำนาญตั้งแต่เล็ก เพราะเมื่อเขาเติบใหญ่จะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้อื่นมากขึ้น โอกาสที่งานเหล่านั้นจะเกิดประโยชน์หรือโทษต่อตัวเขาเอง ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ย่อมมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากงานที่เขากำลังทำนั้น แม้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ แต่อาจทำลายสุขภาพตนเอง หรือไม่ได้ทำความเสียหายแก่สุขภาพตนเอง แต่รบกวนเพื่อนพ้องได้ ไม่รบกวนเพื่อนพ้องแต่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ อาจทำลายศีลธรรม ขบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามได้ เช่นเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
       โจรบางคน ก็รู้ตัวว่า การปลันทรัพย์ของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งไม่ดีแต่ก็ปล้น เพื่อหวังจะได้ทรัพย์ ขณะปล้นก็พยายามทำให้แนบเนียนไม่ให้ถูกจับ บางพวกก็ปล้นเพื่อเผาผลาญทำลายทรัพย์ผู้อื่น
       คนสับปลับบางคน ก็รู้ตัวว่า การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็พูดโกหกและพยายามพูดให้น่าเชื่อถือ เพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้อื่นหรือเพื่อทำลายผู้อื่น
       คำถามก็คือ ทั้งโจรและคนสับปลับต่างก็รู้อยู่แล้วว่า การปล้น การโกหกไม่ดี เป็นความผิด แล้วทำไมจึงทำจึงพูดอย่างนั้น พยายามทำอย่างรัดกุม จับได้ไล่ทันก็ยาก นั่นแสดงว่าก่อนทำ ก่อนพูด พวกเขารู้อยู่แล้วว่า การกระทำเช่นนี้เป็นความชั่ว แต่ขาดสัมปชัญญะ คือ ขาดความรู้ตัวในการระวังไม่ให้ตนเองทำความชั่ว และเผลอลงมือทำความชั่วไปเต็มที่ ดังนั้น เราจึงไม่มีหลักประกันว่าในอนาคตเราเองหรือลูกหลานของเราจะไม่กลายเป็นโจร เป็นคนสับปลับเช่นเดียวกันคนเหล่านั้นด้วย เพราะโจรและคนสับปลับบางคนก็มีการศึกษาสูง มียศ ตำแหน่งสูงกว่าเรา
       คำตอบก็คือ ไม่ว่าโจรหรือคนสับปลับจะมีความรู้ทางโลกระดับสูงเพียงใด ความรู้เหล่านั้นเป็นเพียงความรู้จริงทางด้านวิชาการ แต่เขาขาดความรู้จริงด้านการทำความดี อย่างมากก็มีความรู้ด้านการทำความดีระดับผิวเผิน จึงได้ทำเลว ๆ เช่นนั้น หรือต่อให้รู้จักความดี รู้จักธรรมะจากการเรียนมาอย่างดีก็ตาม แต่หากเรียนอย่างขาดศรัทธา ไม่มีความเชื่อมั่นในความดี และไม่ได้ฝึกฝนทำความดีด้วยสติสัมปชัญญะในทุกเรื่องอย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็มีโอกาสที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปทำความชั่วได้อย่างมากมายเลยทีเดียว ดังผู้รู้จริงกล่าวว่า

"ความรู้เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว ความรู้ของคนพาลนั้น
กำจัดคุณงามความดี ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ"

ขุ.ธ. ๒๕/๗๒/๔๙ (ไทย.มจร)

       ไม่ว่าโจรหรือคนสับปลับล้วนเป็นคนที่มีปกติปล่อยใจออกนอกกายเป็นนิจ ทุกครั้งที่ใจแวบออกไปนอกกาย ใจของเขาย่อมพร้อมจะคิดชั่ว-พูดชั่ว-ทำชั่ว คือ ขาดสติสัมปชัญญะความรู้ตัวที่สมบูรณ์ด้วยเหตุ ๓ ประการ
       ๑. ใจของเขาย่อมคิดเคว้งคว้างสับสนทั้งที่อยากเป็นคนดี เพราะเขาขาดสติ ซึ่งเป็นคุณธรรมควบคุมใจให้เลือกคิด-พูดทำแต่สิ่งดี  เท่านั้น สภาพของใจขณะนั้นจึงไม่ต่างกับเรือที่เคว้งคว้าง เพราะขาดหางเสือควบคุมให้พ้นจากคลื่นลม และหินโสโครกใต้น้ำ
       ๒. ใจของเขาอ่อนกำลังลงโดยฉับพลัน เพราะเมื่อใดใจแวบออกนอกกาย กามคุณ ๕ หรือ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส ย่อมกรูเข้ามาฉุดกระซากใจให้เข้าไปหา คือ รูปแย่งฉุดตาไปดู เสียงฉุดหูไปฟัง กลิ่นฉุดจมูกไปดม รสฉุดลิ้นไปลิ้ม วัตถุฉุดกายไปสัมผัส สิ่งไหนมีแรงมาก ย่อมแย่งฉุดใจให้เข้าไปหาได้ก่อน ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดให้ใจเข้าไปหา มีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ กว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะหันเข้าไปหาสิ่งใดก่อน ซึ่งสิ่งนั้นเขาเองก็ยังไม่รู้จริง ยังถูกโมหะย้อมใจอยู่เพียงยังไม่รู้จริงถึงสิ่งที่ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เท่านี้ใจก็อ่อนกำลังต้านทานความชั่วลงไปมากแล้ว
       ๓. ทันทีที่ใจของเขาหันไปสนใจที่รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสวัตถุที่น่าพอใจนั้น กิเลสประเภทโลภะ โทสะ โมหะซึ่งยังฝังอยู่ในใจตั้งแต่เกิด ย่อมแพร่กระจายย้อมใจให้ขุ่นมัว คิดแต่ในทางที่จะได้สิ่งนั้นเป็นของตนให้ได้ ทั้งที่รู้ว่าสิ่งนั้นอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยชอบธรรม ยิ่งถูกใจมาก ความโลภก็ยิ่งฉุดแรงมากขึ้น สัมปชัญญะความรู้ตัวว่าไม่ใช่ของตน ก็อ่อนแรงจนเกินจะต้านทาน แล้วก็ปล้น โกหก เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาตามต้องการหากมีความรู้ด้านวิชาการมาก ก็ยิ่งนำวิชาการทางโลกที่ตนมีมาประกอบการปล้น การโกหกได้แนบเนียน ให้น่าเชื่อถือและสำเร็จโดยง่าย โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาภายหลัง
       ถ้าสิ่งที่ฉุดใจ คือ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ กิเลสประเภทโทสะซึ่งฝังอยู่ในใจย่อมแพร่กระจายย้อมใจให้ขุ่นมัวทันที พร้อมกับเกิดความคิดเห็นผิด ๆ คือ คิดเห็นในทางทำลาย ยิ่งไม่พอใจมากยิ่งอยากทำลายรุนแรงมาก มากจนสัมปชัญญะความรู้ตัวว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ของตนและตนไม่มีสิทธิจะทำลายนั้น อ่อนแรงลงมากจนเกินจะต้านทานไว้ได้ การปลัน การโกหกเพื่อหวังทำลายล้างจึงเกิดขึ้น เพราะความขาดสติสัมปชัญญะของผู้นั้น
       โจรและคนสับปลับเหล่านี้หากทำความชั่วได้สมใจ โดยไม่มีใครจับได้ไล่ทัน จากเพียงแค่โลภะหรือโทสะก็จะขยายความไม่รู้จริงและความขุ่นมัวดำมืดของใจมากยิ่งขึ้นด้วยอำนาจแห่งโมหะความโง่ว่า ยิ่งโลภะยิ่งได้ คือ ทั้งโง่ ทั้งโลภะ หรือยิ่งโทสะยิ่งเก่ง คือ ทั้งโง่ ทั้งโทสะ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบแก้ไข จากความโง่ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฐิมีความหลงผิดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป
       การทำงานที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ จึงเป็นการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือการได้มาจากความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของผู้ทำเท่านั้น ขณะทำงานผู้ทำการงานนั้นยังต้องป้องกันไม่ให้มีการเสียหายเดือดร้อนใด ๆ เกิดขึ้นด้วย ถ้ามีบ้างก็ต้องให้น้อย แต่สำคัญที่สุดคือเสร็จงานแล้วต้องไม่มีความเดือดร้อนตามมา มีแต่ความอิ่มเอมเบิกบานใจของทุกฝ่าย


คนบางคนรู้จักความดี

รู้จักธรรมะจากการเรียนมาอย่างดี
แต่หากเรียนอย่างขาดศรัทธา
ไม่มีความเชื่อมั่นในความดี
และขาดการฝึกฝนในการทำดีด้วยสติสัมปชัญญะ
พวกเขาก็มีโอกาสที่จะนำความรู้เหล่านั้น
ไปทำความชั่วได้อย่างมากมาย
 

วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๓ "สติ" : การฝึกสติ

 
 
(...ทักทายจากแอดมิน... ไม่น่าเชื่อว่า สติ คำนี้มีคุณค่ามหาศาล ในชีวิตประจำวันเราได้ฝึกสติกันทุกวินาที เหมือนลมหายใจ ที่ติดตัวเราตลอดเวลา ขาดไม่ได้ ขาดเมื่อไรก็เรียกว่า เป็นคน "ขาดสติ" บทที่ ๓ ตอน "การฝึกสติ" นี้ จะเป็นบทที่พาเราไปสู่บทฝึกจากกิจกรรมประจำวันเพื่อฝึกเป็นผู้มีสติให้ได้ตลอดเวลา....Try it?...) 

การฝึกสติ

          สติเป็นคุณธรรมจึงต้องฝึกขึ้นมาไม่สามารถรอให้เกิดขึ้นเอง เหมือนแดด ลม ฝน ที่เกิดเองตามธรรมชาติได้ การฝึกสติทำได้หลายวิธี ทุกวิธีต้องปฏิบัติให้ถูกและทำอย่างต่อเนื่องจึงได้ผล ตัวอย่างวิธีฝึกสติเบื้องตัน เช่น
          ๑. สวดมนต์ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็นเป็นประจำ
          ๒. เจริญสมาธิภาวนาเป็นประจำ เช้า-เย็น อย่างน้อยครั้งละ ๑๕-๓๐ นาที ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น กำหนดลมหายใจเข้าออก กำหนดอาการท้องพองท้องยุบ กำหนดพระพุทธรูป ดวงแก้ว ดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือแม้แต่ผลไม้ที่ตนคุ้นตา เช่น ผลส้ม มะนาว ซึ่งเป็นทรงกลมและนึกได้ง่าย ไว้ที่ศูนย์กลางกาย โดยสำนึกเสมอว่าการรับประทานอาหาร การหายใจเข้าออกเป็นกรณียกิจเพื่อชีวิตตนฉันใด การประกอบอาชีพในทางที่ถูกเป็นกิจเพื่อชีวิตของตนฉันใด การเจริญสมาธิภาวนาให้เกิดสติต่อเนื่องสม่ำเสมอเป็นประจำ ก็เป็นกรณียกิจเพื่อชีวิตตนฉันนั้น
          ๓. หมั่นกำหนดใจไว้กลางกายขณะทำกิจส่วนตัว เช่น ขณะตักอาหาร ขณะเคี้ยวอาหาร ขณะล้างหน้า ขณะอาบน้ำ ขณะถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ตลอดจนหมั่นกำหนดใจไว้กลางกายตลอดวันขณะทำความสะอาด และจัดระเบียบสิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น ชัก-ตาก-พับ-เก็บเสื้อผ้า ที่นอน หมอนมุ้ง ล้าง-เก็บ ถ้วย จาน ช้อน ชาม ปัด-กวาด-เช็ด-ถู-ขัดห้องน้ำ ห้องสัวม ห้องครัว ห้องนอน ห้องทำงาน ตู้เสื้อผ้า ตู้ยา เป็นตัน ดังภาพที่ ๓ และ ๔


 

ไม่ว่าจะประกอบภารกิจการงานใด ๆ

สติจำเป็นต้องมีในทุกที่ทุกสถาน จะขาดไม่ได้
ถ้าขาดเมื่อใดก็ชื่อว่าประมาทเมื่อนั้น
ทั้งประมาทระยะสั้น คือ ประมาทขณะทำงาน
ประมาทระยะยาว คือ ประมาทข้ามภพข้ามชาติ

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ