ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๕ : ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๑ และ ๒

 สติ สัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน

ตอน

ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๑

          ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้จริงอะไรเลย ทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่หลังจากเกิดแล้วทั้งสิ้น สิ่งที่เรียนรู้ภายหลังแต่ละอย่างก็อาจมีทั้งรู้ผิดและรู้ถูก แม้รู้ถูกก็อาจจะรู้ไม่ครบ รู้ไม่ลึก ตัวอย่างความไม่รู้ที่ค้างคาใจทุกคนคือ
          เราคือใคร เกิดมาทำไม ก่อนเกิดมาจากไหน จะตายเมื่อไหร่ ตายแล้วจะไปไหน ที่สำคัญที่สุด คือ เกิดมาทำไม เพราะเป็นเหตุให้เราขาดความมั่นใจตนเองแม้ขณะทำความดี เพราะไม่รู้แน่ชัดว่า ดี-ไม่ดี ตัดสินอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะเกิดผลร้ายตามมาอย่างไรแน่
          นอกจากไม่รู้อะไรจริง คนส่วนใหญ่ยังไม่พยายามหาคำตอบ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องรู้ไปทำไม ตลอดชีวิตแต่ละคนจึงทำผิดทำพลาดให้ตนเองและผู้อื่นต้องเดือดร้อนเสมอ เป็นเหตุให้มนุษย์มีความกลัวฝังลึกอยู่ในใจ แล้วกลายเป็นโรคกลัวนานาชนิดตามมา ซึ่งโรคกลัวที่หนักหนาสาหัสที่สุดของทุกคน คือ โรคกลัวตาย

ความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ประการที่ ๒

          ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความทุกข์ ทราบได้จากอาการของทารกแรกเกิด ทันทีที่คลอดจากครรภ์มารดา ไม่มีทารกคนใดหัวเราะหรือยิ้ม มีแต่เสียงร้องไห้จ้าลั่นโลก ราวกับต้องการประกาศให้โลกรู้ว่า ข้าพเจ้าเกิดมาพร้อมกับความทุกข์ คือ เริ่มเป็นทุกข์จากการเกิด โดยเกิดมาพร้อมกับโรคประจำกาย ๖ และโรคประจำใจ ๓ โรคประจำกาย ๖ นี้
แม้หมอเทวดาก็รักษาไม่หาย ทุกคนต้องเกิดและตายพร้อมกับมัน ซึ่งได้แก่  ๑) โรคหนาว ๒) โรคร้อน ๓) โรคหิว ๔) โรคกระหาย ๕) โรคปวดอุจจาระ ๖) โรคปวดปัสสาวะ ส่วนโรคประจำใจ  นั้น ได้แก่ ๑) โรคโลภะ ๒) โรคโทสะ ๓) โรคโมหะ ซึ่งฝังติดอยู่ในใจเราตลอดเวลาเช่นกัน เมื่อใดเราขาดสติ โรคประจำใจ ๓ นี้จะคอยบีบคั้นให้เราต้องทำ
กรรมชั่วต่าง ๆ หนักบ้าง เบาบ้าง ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้ว่าโรคประจำกาย ๖ และโรคประจำใจ ๓ นี้เอง ที่เป็นต้นเหตุแท้จริงของปัญหาต่าง ๆ ทั้งโลก ซึ่งโรคประจำกาย ๖ และโรคประจำใจ ๓ นี้ ดังภาพที่ ๑๐
          ทันทีที่ทารกคลอดจากครรภ์มารดา โรคประจำกาย ๖ จะบังคับให้ทารกต้องทุกข์กับโรคปวดอุจจาระ-ปัสสาวะ จากการขับของเสียออกจากร่างกาย และยังต้องมีปัจจัย ๔ มารองรับ ได้แก่ ๑) อาหารและน้ำ เพื่อป้องกันโรคหิว-กระหายกำเริบ ๒) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ๓) ที่อยู่อาศัย เพื่อป้องกันโรคหนาว-ร้อนกำเริบ ๔) ยารักษาโรค เพื่อป้องกัน
โรคร้ายต่าง ๆ ที่พร้อมจะกลุ้มรุมเข้ามาทำร้าย ซึ่งทารกย่อมหาปัจจัยเองไม่ได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองตระเตรียมไว้ให้
          หากพ่อแม่ผู้ปกครองปล่อยปละละเลย ปฏิบัติผิดต่อโรคประจำกาย ๖ ของลูกน้อยเป็นประจำ กว่าลูกจะโตย่อมเกิดโรคกายอีกนานาชนิดตามมา ทั้งโรคใหม่และโรคเก่ารวมกันเข้า ย่อมก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ปัญหาสุขภาพนี้จะบีบคั้นครอบครัวให้ต้องมีภาระค่าใช่จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายปกติที่เป็นภาระหนักอยู่แล้ว เมื่อขาดแคลนก็ต้องแย่งกัน กินแย่งกันใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  ปัญหาความยากจนย่อมก่อเกิดในครัวเรือนและสังคมตามมาจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เมื่อเกิดความขาดแคลน ความเห็นแก่ตัวย่อมเกิดขึ้น แม้เป็นเด็กก็พร้อมจะหวง ไม่อยากแบ่งปันอะไรกับใคร ๆ แม้ขนม นม เนย ของเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ กับพี่น้องของตนเอง
          เมื่อเติบใหญ่ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาขาดแคลน รวมทั้งความหวงสิ่งของเก่าอยากได้สิ่งของใหม่ ย่อมบีบบังคับใจให้แวบออกนอกกายเพื่อไปแสวงหาปัจจัย ๔ และสิ่งของต่าง ที่ตนปรารถาอยากได้ถี่ขึ้น ๆ เพื่อตอบสนองความอยากที่ไม่รู้จบ แม้ในสิ่งของที่ไม่ใช่สิ่งของของตน คือ โรคโลภะกำเริบ ซึ่งก็ได้มาบ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าไม่ได้ก็ขัดเคืองใจ คือ โรคโทสะกำเริบ ถ้าได้สิ่งของที่ถูกใจมาแล้ว ก็เกิดโรคโมหะกำเริบ คือ หลงโง่ว่า สิ่งที่ได้มาแล้วนั้นจะอยู่กับตนนาน ๆ แต่ต้องผิดหวัง เพราะสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้มานั้นเป็นธรรมชาติว่า ทุกสิ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่ได้ชั่วครู่ยามสุดท้ายก็แตกดับไป ใจจึงกลับเป็นทุกข์ชนิดใหม่ คือ เกิดทุกข์เพราะความพลัดพรากจากของรักของชอบใจนั้น ใจก็ถูกบังคับเพราะความอยากได้ใหม่อีก ความวนเวียนเป็นทุกข์ทั้งทางกายและทางใจเช่นนี้จึงเกิดไม่รู้จบตลอดชีวิต กลายเป็นว่า ตลอดชีวิตของผู้คนทั้งโลกมีแต่ความทุกข์ไม่รู้จบ ตั้งแต่ทุกข์จากการคลอด ทุกข์จากโรคประจำกาย ๖ ทุกข์จากการแสวหาทรัพย์ ถ้าไม่ได้ก็ทุกข์เพราะเสียใจ ได้มาไม่นานก็ทุกข์เพราะพลัดพราก ถ้าพบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจก็ทุกข์เพราะขัดใจ แม้ถึงคราวต้องตายก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ คือ ทุกข์เพราะไม่รู้ว่าตายแล้วจะไปไหน เพราะคนทั่วไปหากไม่ได้ฟังธรรมจากท่านผู้รู้จริง ย่อมขาดสติสัมปชัญญะ ถูกโรคโง่โมหะท่วมใจจนกระทั่งตาย โรคประจำใจ ๓ ที่ฝังอยู่ในใจมาตั้งแต่เกิดนี้ยังไม่จบ ยังหมักหมมใจหนาแน่นยิ่งขึ้นและฝังลึกในใจตามไปชาติหน้าอีกด้วย 
 

 

4 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา