สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา
ตอน
หลักคิดการจัดการศึกษา
ท่านผู้รู้จริงได้กรุณาให้หลักคิดในการจัดการการศึกษาไว้อย่างลึกซึ้งแต่เรียบง่ายว่า
๑. ความรู้วิชาการทางโลก ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ หากเกิดกับคนพาล คือ คนที่สติยังอบรมมาไม่เข้มแข็งพอ ยังควบคุมใจให้อยู่ในกายเป็นนิจสมแก่เพศวัยของตนไม่ได้ ย่อมมีแต่จะนำความพินาศฉิบหายมาให้ เพราะใจของเขาชอบแวบออกไปนอกตัวและขุ่นมัวอยู่เป็นนิจ จึงเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นถูกได้ง่าย ใช้วิชาการทางโลกเข้ามาเป็นอุปกรณ์เสริมให้คิดร้าย พูดร้าย และทำสิ่งร้าย ๆ ย่อมก่อความเดือดร้อนอย่างมหันต์ทั้งต่อตัวเขาเองและคนรอบข้าง ตรงกับที่ท่านผู้รู้จริงเตือนว่า การจัดการศึกษาที่ถูกจำเป็นต้องปลูกฝังสติสัมปชัญญะให้มั่นคงไว้เป็นภูมิคุ้มกันความชั่วให้แก่ผู้เรียนก่อนแล้วถ่ายทอดวิชาการตามหลัง หรืออย่างน้อยต้องปลูกฝังสติสัมปชัญญะและถ่ายทอดวิชาการไปพร้อม ๆ กัน แต่ห้ามถ่ายทอดวิชาการโดยไม่ปลูกฝังสติสัมปชัญญะเด็ดขาด
๒. ท่านผู้รู้จริงยังได้เมตตาแสดงถึงความร้ายกาจของโรคประจำใจ ๓ ว่า เคยทำลายชีวิตผู้คนไปครึ่งค่อนโลกมาแล้วด้วยอาการ ต เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้รอบคอบในการจัดการศึกษาในยุคปัจจุบัน
ในอดีตก่อนยุคของท่านผู้รู้จริง ชาวโลกในยุคนั้นส่วนมากเชื่อว่าสมองควบคุมกายโดยไม่เชื่อว่าคนมีใจ จึงไม่สนใจที่จะฝึกสติสัมปชัญญะไว้ควบคุมใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้คนทุกระดับชั้นจึงยินดีกับความไม่ชอบธรรม ถูกความโลภบีบคั้นหนัก ให้คิดเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นในทางไม่ชอบ ผิดศีล ผิดธรรม ผิดกฎหมาย มั่วสุมเสพคุ้นอบายมุขทุกชนิด มีความเห็นผิดเป็นชอบ ต่างจับอาวุธเพื่อก่อสงครามเข่นฆ่าล้างผลาญกัน ส่งผลให้ผู้คนในยุคนั้นล้มตายไปเป็นจำนวนมาก (อง.ติก. ๒๐/๕๗/๒๒๐-๒๒๑ (ไทย.มจร) นี้เป็นผลร้ายแห่งความโลภประการที่ ๑
เพราะขาดสติสัมปชัญญะควบคุมใจ ผู้คนต่างโลภหนัก นอกจากเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์สมบัติผู้อื่นในทางไม่ชอบแล้ว ต่างคนต่างทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะความโลภเห็นแก่ตัวนั้น ทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ข้าวกล้าเสียหายเป็นเพลี้ยหนอนเหลือแต่ต้น อาหารก็ขาดแคลนไปทั่วโลก มนุษย์จึงล้มตายไปอีกมากมายด้วยทุพภิกขภัย นี้เป็นผลร้ายแห่งความโลภประการที่ ๒
เมื่อผู้คนขาดสติสัมปชัญญะควบคุมใจ ต่างคนต่างถูกความโลภบีบคั้นใจอย่างหนัก ตัวเป็นคนแต่ใจกลายเป็นยักษ์ ขาดความเมตตาสงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ได้ปล่อยอมนุษย์ คือ โรคระบาดร้ายแรงให้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค เพื่อหวังทรัพย์สมบัติของผู้อื่น เมืองอื่นประเทศอื่นในทางไม่ชอบ ผู้คนจึงล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง นี้เป็นผลร้ายแห่งความโลภประการที่ ๓
ความล้มตายของผู้คนครึ่งค่อนโลกในอดีตที่ท่านผู้รู้จริงแสดงไว้ย่อมซี้ชัดว่า สาเหตุที่ความโลภท่วมทับใจของผู้คนทั้งโลก ล้วนเกิดจากการจัดการศึกษาผิด ๆ ของแต่ละยุคสมัย แต่ละประเทศในภูมิภาคทั่วโลก เริ่มจากตั้งเป้าหมายการศึกษาผิด แทนที่จะมุ่งเพื่อค้นหาความรู้จริงไว้ใช้กำจัดทุกข์ กำจัดกิเลส คือ โรคประจำใจ ๓ เพื่อความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของทุกคน จะได้อยู่เหนือกฎแห่งกรรม กลับมุ่งไปส่งเสริมให้แข่งกันรวย แข่งกันเป็นมหาอำนาจทางด้านต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งเสริมให้กิเลส คือ โรคประจำใจ ๓ แพร่ระบาดเร็วขึ้นทั้งสิ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา