ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๔ "สัมปชัญญะ" : หลักการทำงานอย่างชาญฉลาดเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะ

 

สัมปชัญญะ 

ตอน หลักการทำงานอย่างชาญฉลาดเพิ่มพูนสติสัมปชัญญะ


          การที่บุคคลใดจะทำงานท่ามกลางความสับสนของโลกกว้าง บุคคลนั้นพึงมีหลักการทำงานเพื่อดำรงชีวิตอย่างชาญฉลาดไม่งมงาย ดังนี้
          ๑. การทำงานที่ฉลาดจะต้องไม่ก่อให้เกิดหนี้สินใด ๆ มีแต่ทำให้เกิดทรัพย์ไว้เพียงพอหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้อิ่มหนำมีสุขเป็นอย่างน้อย ยิ่งมีเหลือเผื่อทำบุญ ช่วยเหลือผู้อื่นคราวคับขันได้ก็ยิ่งดี
          ๒. การงานที่ฉลาด ไม่งมงายจะต้องเป็นการงานที่ทำให้ผู้ทำงานนั้น ได้โอกาสประคองรักษาใจไว้ในกายตลอดเวลาที่ทำงานนั้น ๆ เป็นการงานที่มีแต่จะทำให้ผู้ทำงานใจผ่องใสยิ่งขึ้น และหลีกเลี่ยงการทำงานที่ทำให้ใจขุ่นมัวทุกชนิด แม้การทำงานนั้นจะทำให้ร่ำรวยล้นฟ้าปานใดก็ตาม แต่การมีสติหมั่นเก็บใจไว้ในกายจะรักษาใจให้ผ่องใส
เป็นการป้องกันใจไม่ให้คิดเห็นผิด ๆ แล้วสั่งการกายให้พูดผิด ๆ ทำผิด ๆ เพิ่มทุกข์เดือดร้อนแก่ตนเอง ที่สำคัญการงานที่ฉลาด ไม่งมง่าย เป็นการงานที่กำจัดโลภะ โทสะ โมหะ ให้ลดลงอีกด้วย
          ๓. การงานที่ฉลาดนั้น จะต้องเปิดโอกาสให้ได้สร้างผู้มีสติสัมปชัญญะรุ่นใหม่และสร้างเครือข่ายคนดีมีสติสัมปชัญญะ ไว้พัฒนาสังคมประเทศชาติให้สะอาด มีระเบียบยิ่ง ๆ ขึ้นไป
          เพราะการทำงานอย่างชาญฉลาด มีสติสัมปชัญญะจึงทำให้ ๑) รู้ตัวว่าการงานนั้นมีประโยชน์จริง ๒) รู้ตัวว่างานนั้นเหมาะกับตนจริง ๓) รู้ตัวว่างานนั้นสะดวกสบายจริง ๔) รู้ตัวว่างานนั้นฉลาดจริง ย่อมเป็นการทำงานที่มีแต่เพิ่มพูนความสุขกำจัดทุกข์ไปพร้อม ๆ กัน และเป็นงานที่ช่วยกล่อมเกลาให้ผู้คนในสังคมนั้น ๆ มีใจผ่องใส รักการหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีสุจริต ไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่นไปพร้อม ๆ กันด้วย จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่ผู้คนทั้งโลกพึงรีบขวนขวายลุกขึ้นมาฝึกฝนตนเอง สมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้านและผู้ร่วมสังคม ให้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ตลอดเวลาในการทำงานตั้งแต่บัดนี้
          โดยเริ่มต้นฝึกเก็บใจไว้กลางกายเบา ๆ ง่าย ๆ สบาย ๆ หมั่นสังเกต และทำอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับการทำกิจวัตรส่วนตัวตั้งแต่ตื่นเช้าจนกระทั่งกลับเข้านอน
          หลังจากทำใจจรดกลางกายจนชำนาญขณะทำงานเป็นประจำ คำถามทำนองเหล่านี้จะผุดขึ้นมาเอง จากนั้นจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความหยุดนิ่งของใจ คำตอบย่อมผุดขึ้นเองจากใจใส ๆ นั้น และคำตอบก็จะละเอียดไปตามลำดับ ดังเช่น
          คำถามที่ ๑ ตัวเราเองและคนทั้งโลก ทำไมจึงต้องทำงานประกอบอาชีพแทบไม่มีวันหยุด
          คำตอบที่ ๑ แม้แต่ละวันคำตอบจะมีหลายอย่างต่างกันไป แต่สุดท้ายเมื่อรักษาใจไว้นิ่ง ๆ ในกลางกายดีพอก็จะเหลือเพียงคำตอบเดียว คือ เพราะเราต่างต้องมีค่าใช้จ่ายประจำทุกวันไม่อาจหลีกเสี่ยงได้ เพื่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย ถ้าใครไม่อยากเหนื่อยมาก ก็ต้องรู้ประมาณให้ครบทั้ง ๓ ประการ คือ
               ๑) รู้ประมาณการทำงานหาทรัพย์
               ๒) รู้ประมาณการเก็บรักษาทรัพย์
               ๓) รู้ประมาณการใช้ทรัพย์อย่างเหมาะสม
          คำถามที่ ๒ ค่าใช้จ่ายของแต่ละคน แต่ละเพศ แต่ละวัย ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน แม้ต่างคนต่างประหยัดสุด ๆ แล้ว ก็ยังมีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า ใช้จ่ายเท่าไร คือ การรู้ประมาณ
          คำตอบที่ ๒ ค่าใช้จ่ายของทุกคนในโลกแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท
               ๑) ประเภทค่าใช้จ่ายตามอำเภอใจ ถ้าไม่มีก็แล้วไป จึงต้องวางไว้ก่อน เลือกพิจารณาประเภทค่าใช้จ่ายจำเป็นเท่านั้น
               ๒) ประเภทค่าใช้จ่ายจำเป็นจะขาดไม่ได้ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย ต่างมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงเพียง ๒ งบ งบแรก คือ ค่าปัจจัย ๔ โดยเฉพาะ และงบที่สอง คือ สิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔
              งบแรก ค่าปัจจัย ๔ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสำหรับ
  •  อาหาร เครื่องดื่ม
  •  เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม
  •  ที่อยู่อาศัย
  •  ยารักษาโรค
              ปัจจัยทั้ง ๔ ประการนี้ ตลอดชีวิตใคร ๆ ก็ขาดแม้เพียงวันเดียวไม่ได้
             งบที่สอง สิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔ ได้แก่
  • สิ่งที่เนื่องด้วยอาหาร เครื่องดื่ม เช่น ถ้วย จาน ช้อน ชาม กระทะ หม้อ เป็นต้น
  • สิ่งที่เนื่องด้วยเสื้อผ้า เช่น สบู่ น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องซักผ้า แปรงซักผ้า เตารีด เป็นต้น
  • สิ่งที่เนื่องด้วยที่อยู่อาศัย เช่น โต๊ะ เตียง ตั่ง เก้าอี้ ไม้กวาด เครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น
  • สิ่งที่เนื่องด้วยยารักษาโรค เช่น เข็มฉีดยา ผ้าพันแผล สำลี แปรงสีฟัน ยาสีฟัน เป็นต้น
         หากควบคุมค่าใช้จ่ายปัจจัย ๔ โดยตรง และสิ่งที่เนื่องด้วยปัจจัย ๔ให้พอเหมาะกับรายได้ของตน โดยไม่ทำให้ตนต้องตกเป็นหนี้ แต่พอมีเหลือเผื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉินบ้าง ก็ถือได้ว่าเป็นความรู้ประมาณในปัจจัย ๔ ของผู้นั้น และจัดได้ว่าเป็นการยกระดับความฉลาดไม่งมงาย ไม่ประมาทของผู้นั้นได้อีกระดับหนึ่งด้วย ซึ่งการดำรงชีวิตแบบฉลาดและโง่งมงาย ดังภาพที่ ๕ และ ๖ 
 

 

ขณะที่เราทำการงานเพื่อดำรงชีวิตอยู่นั้น

มีสองสิ่งที่เราต้องเสียไปโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
และเรียกคืนกลับมาไม่ได้ คือ
๑) เสียเวลาชีวิต เพราะร่างกาย
ต้องแก่ลงไปเปล่า ๆ อย่างไร้แก่นสาร
๒) เสียโอกาสทำความดีอย่างอื่น
 

1 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา