ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๖ : ความจริงคือหัวใจของการศึกษา

สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา

ตอน

ความจริงคือหัวใจการศึกษา

         เมื่อถึงตรงนี้คงมองออกแล้วว่า การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องมุ่งให้ผู้เรียน เป็นผู้รู้ความจริง ทั้งความจริงที่เกี่ยวกับตนเองและความจริงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ๕ พร้อมกับรีบประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมกับความจริงที่ตนได้เรียนรู้แล้วนั้น เพื่อแก้ไขปรับปรุงนิสัยตนให้ดียิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนมีชัยเหนือความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ได้ในที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้การศึกษาจึงเป็นเรื่องการฝึกฝนตนเองและผู้อื่นให้ ๑) พากเพียรไม่ท้อถอยศึกษาหาความจริงที่ต้องรีบรู้ ที่ต้องรีบประพฤติ ๒ พากเพียรประพฤติปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสมตรงตามความจริงให้เคย คุ้น ชินเป็นนิสัยดีประจำตน ดังนั้นความจริงจึงเป็นหัวใจสำคัญการศึกษา เราจึงควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความจริงคืออะไร

ความหมายของความจริง

          ความจริง มีความหมาย ๒ ประการ ดังนี้
          ๑. สิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพัด เซลล์ อวัยวะ ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายคน สัตว์ พืชต่าง ๆ ระบบต่าง ๆ ภายในพืชแต่ละชนิด ฤดูกาล เวลา ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเป็นอย่างนั้นเองโดยธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงไม่ได้
          ๒. สิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ แล้วเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้
          ตัวอย่าง ความจริง
          นาย ก เดินข้ามทุ่ง ขณะพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ฟ้าผ่านาย ก เสียชีวิตที่ทุ่งนา ตำบล... อำเภอ... จังหวัด...เมื่อเวลา....
          ๑) นาย ก เดินข้ามทุ่ง                        เป็นความจริง ที่เกิดจากการกระทำของนาย ก
          ๒) มีพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก     เป็นความจริง ที่เกิดจากธรรมชาติ
          ๓) ฟ้าผ่า นาย ก                                เป็นความจริง ที่เกิดจากธรรมชาติกระทำต่อนาย ก
          ๔) นาย ก เสียชีวิต                            เป็นความจริง ที่เกิดกับนาย ก
                                                                    เพราะไม่อาจทนต่อความรุนแรงของกระแสฟ้าผ่าได้
          ๕) เหตุเกิดตำบล... อำเภอ... จังหวัด... เวลา... เป็นความจริง เป็นอย่างนั้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ทั้ง ๕ เหตุการณ์ เป็นความจริง เพราะเป็นอย่างนั้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้

 

ประเภทของความจริง

          ความจริงแบ่งตามความเป็น-ไม่เป็นประโยชน์ ได้ ๒ ประเภท คือ ๑) ความจริงที่เป็นคุณ ๒) ความจริงที่เป็นโทษ เช่น ฝนตก เป็นความจริงที่เกิดตามธรรมชาติเป็นคุณต่อคน สัตว์ พืช สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพราะให้น้ำฝน น้ำใช้ น้ำดื่ม ลดมลภาวะ เป็นต้น แต่เป็นโทษถ้าฝนตกยกระดับความรุนแรงเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ทำให้น้ำท่วม พัดบ้านเรือนเสียหาย เกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิต พายุฝนจึงจัดเป็นความจริงที่ให้โทษด้วย
          ความจริงแบ่งตามการรู้ออกเป็น ๒ ประเภท คือ
          ๑. ความจริงกายภาพ เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ที่มีใจกำกับสั่งการ และรู้ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่าง ๆ
          ความจริงประเภทนี้ รู้ได้เกือบทุกคนแต่ความลุ่มลึกแตกต่างกัน ผู้ใดที่มิใจจดจ่อกับความจริงนี้ก็จะใช้ ตา หูจมูก ลิ้น กาย สังเกต เห็นรับรู้ข้อมูลความจริงได้มาก ได้ถูกต้อง ได้ครบถ้วน ทำให้ใจสามารถนำข้อมูลความจริงเหล่านี้มาคิดเชื่อมโยง เห็นเป็นเรื่องราวความเป็นเหตุเป็นผลนำไปสู่การทดลอง พิสูจน์ จนได้ข้อสรุปเป็นความจริง เช่น
          ลูกแอปเปิ้ลตกจากต้น ใคร ๆ ก็เห็น แต่ก็ไม่มีใครสนใจว่าทำไมจึงตกจากต้น จนกระทั่ง เซอร์ไอแซก นิวตัน(Sir Isaac Newton) สังเกตเห็นความจริงกายภาพที่รู้ได้จากการขบคิด ซึ่งเป็นการเห็นในความคิด เพราะใจท่านจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียวของความอยากรู้เหตุผลว่า ทำไมลูกแอปเปีลจึงตกจากต้น ใจลักษณะนี้เป็นใจที่ไม่แวบคิดโน่นคิดนี่ให้ฟุ้งซ่านเหมือนคนทั่วไป แล้วก็ได้คำตอบจากการทดลอง พิสูจน์ จนเกิดเป็นทฤษฎีแรงโน้มถ่วง คือ โลกส่งแรงดึงดูดสรรพสัตว์และสรรพสิ่งมาที่ศูนย์กลางกายของสรรพสัตว์และจุดศูนย์ถ่วงของสรรพสิ่ง ทำให้สรรพสัตว์และสรรพสิ่งไม่หลุดลอยเคว้งคว้างออกไปจากโลก
          การแสวงหาความจริงกายภาพ เกิดจากการนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การเห็น การฟัง การดม การลิ้มรสการสัมผัส มาขบคิด วิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ จนกระทั่งเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ซึ่งกระบวนการนี้เรียกว่า วิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ระบบย่อยอาหรของคน-สัตว์ แต่เดิมเราไม่ทราบหรือไม่อาจเห็นได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน แต่ก็รู้ว่ามี เพราะเกิดจากการเรียนรู้และสังเกต ความรู้สึกอิ่ม หิว กระหาย จากระยะเวลาที่กินจนกระทั่งเวลาที่ของเสียขับถ่ายออกมาจากร่างกาย
          กล่าวได้ว่า กฎ ทฤษฎี ความรู้ด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นความจริงกายภาพที่พิสูจน์ ทดลองให้เห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส ทั้ง  นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ แสวงหาความจริงกายภาพด้วยจุดมุ่งหมาย ๑) เพื่อทำความเข้าใจปรากฏกรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆว่า สิ่งนั้น เรื่องนั้น คืออะไร เกิดได้อย่างไร มีกระบวนการอย่างไร ทำไมจึงเกิด มีเหตุปัจจัยอะไรที่ส่งเสริมหรือยับยั้งเหตุการณ์นั้นได้บ้าง ๒) เพื่อนำความรู้ความจริงที่ค้นพบนี้มาใช้ประโยชน์ ๓) เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต
          ๒. ความจริงจิตภาพ เป็นความจริงที่รู้ได้ด้วยใจที่มีความบริสุทธิ์ เป็นความจริงที่เป็นนามธรรม ผู้มีสติหมั่นเก็บใจไว้กลางกายเป็นนิจ ใจย่อมผ่องใส ย่อมเห็นความจริงประเภทนามธรรมนี้ได้ง่ายและชัดเจน เพราะเป็นธรรมชาติว่า ความสว่างทำให้เห็นความจริง หากผู้ใดรักษาใจให้หยุด นิ่ง นุ่ม นาน แนบแน่นที่กลางกายอย่างเบา ๆ สบาย ๆ ใจก็ยิ่งเห็นความจริงจิตภาพได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ
          ธรรมชาติความจริงที่เป็นนามธรรม เช่น ใจ ศีลธรรม กฎสากลประจำจักรวาล กิเลส ทางพ้นทุกข์ สิ่งเหล่านี้ย่อมรู้ได้ด้วยใจที่ผ่องใส ใจที่สว่างเท่านั้น ยิ่งใจสว่าง ใจบริสุทธิ์มากเท่ไร ก็ยิ่งเห็นความจริงของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม หรือกายภาพและจิตภาพได้หมดจดมากเท่านั้น เพราะความสว่างทำให้เห็นความจริง จึงไม่ต้องใช้ความคิดคาดการณ์หรือจินตนาการไปต่าง ๆ นานา เหมือนเข้าไปในห้องมืดหรือสลัวๆ เราย่อมเห็นอะไร ๆ ได้ไม่ชัดเจนว่ามีอะไรอยู่ในห้องหรือเห็นเพียงตะคุ่ม ๆ ต้องอาศัยการคาดคะเนไปต่าง ๆ ต่อเมื่อเปิดไฟเกิดความสว่างแล้ว ก็เห็นทันทีว่ามีอะไรในห้องบ้าง
          แต่ถ้าใครใจขุ่นมัว ไม่ผ่องใส ใจมืด ก็ยิ่งเห็นไม่ถูกต้องตรงความจริง เห็นความเท็จเป็นความจริง เห็นความดีเป็นความชั่ว เห็นความชั่วเป็นความดี ดังตัวอย่าง
 
          ความจริงจิตภาพ                         คนใจใส                                  คนใจขุ่น
     ศีล ๕ ทำให้เห็นใจกันและกัน          เห็นว่าจริง ต้องรักษา         เห็นว่าไม่จริง ต้องละเมิดฝ่าฝืน
     สติ ทำให้ใจผ่องใส                          เห็นว่าจริง ต้องฝึกฝน        เห็นว่าไม่จริง ไม่ต้องฝึกฝน
     อบายมุข มีโทษร้ายแรงดิ่งไปที่ชั่ว  เห็นว่าจริง ต้องเว้นห่าง      เห็นว่าไม่จริง ต้องช่องเสพ
          ดังนั้น ผู้แสวงหาความจริงจิตภาพย่อมได้ชื่อว่าแสวงหาปัญญาทั้งภายนอกและภายใน โดยเริ่มจากฝึกสติสัมปชัญญะ คือ ให้มีความรู้ตัวทั่วพร้อม เก็บใจไว้กลางกาย จนใจหยุดนิ่ง ใส สะอาด กระทั่งสว่างไม่มีประมาณตั้งมั่นอยู่ภายใน แล้วเกิดความรู้แจ้งจากการเห็นภายในนั้น จัดเป็นปัญญาด้านจิตภาพเมื่อรวมกับการเห็นการรู้ภายนอกจากประสาทสัมผัส  ย่อมทำให้สามารถเอาชนะความจริงน่าตระหนกประจำโลก ๔ ประการ ได้อย่างเด็ดขาด นี้เป็นเส้นทางศีลธรรม
          จากประเภทความจริงที่กล่าวมาทั้งหมด การศึกษาจึงต้องทำให้ผู้เรียนได้รอบรู้ชัดความจริง ทั้งความจริงกายภาพและความจริงจิตภาพ ทั้งความจริงที่เป็นคุณและโทษ แล้วเลือกประพฤติปฏิบัติเฉพาะความจริงกายภาพ-จิตภาพที่เป็นคุณ เว้นห่างจากการประพฤติปฏิบัติตามความจริงกายภาพ-จิตภาพที่เป็นโทษ จึงจะบังเกิดเป็นความดี ห่างไกล จากความชั่ว คือ ไม่มีความเดือดร้อนใด ๆ ตามมาในภายหลังจากการกระทำทางกาย วาจา ใจของตนที่มีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น มีแต่เกิดประโยชน์สุข มีแต่ใจผ่องใสโดยทั่วหน้ากันทุกคน ดังภาพที่ ๑๓
          ใจผ่องใสเท่านั้น ที่ทำให้มนุษย์รู้-เห็นความจริงกายภาพ-จิตภาพได้ลุ่มลึกสมตามที่ท่านผู้รู้จริงกล่าวไว้ว่า
          สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราเกี่ยวข้อง สำคัญที่การรู้การเห็นของใจ มีใจเป็นใหญ่ในการตัดสิน มีความสำเร็จกิจจากการสั่งของใจ
          ๑. ถ้าใจขุ่นมัว มืดบอด การพูดการทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุแห่งความทุกข์ ความเดือดร้อนย่อมติดตามตัวเขา เหมือนล้อเกวียนหมุนบดขยี้ตามรอยเท้าโค
          ๒. ตรงกันข้าม ถ้าใจผ่องใส ใจสว่าง การพูดการทำก็พลอยดีไปด้วย เพราะความดีที่เป็นเหตุแห่งความสุข ความเจริญย่อมติดตามตัวเขาเหมือนเงาตามตน
 

ยิ่งใจผ่องใส
ยิ่งใจสว่างบริสุทธิ์มากเท่าไร
ก็จะยิ่งทำให้เห็นความจริง
ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
ได้ลุ่มลึกและถูกต้องตรงความจริง
มากเท่านั้น

 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

1 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา