ธรรมชาติของใจที่รู้เห็นได้ยาก
ฐานที่ตั้งของใจ
( ทักทายจากแอดมิน : บทที่ ๒ นี้ เป็นเรื่องราวการเรียนรู้ของฐานที่ตั้งของใจอยู่ที่ไหน คุณสมบัติของใจเป็นอย่างไร และเรื่องเครื่องมือที่ใช้ควบคุมใจ เรามาดูว่า ความหมายและรายละเอียดของธรรมชาติของใจมนุษย์ ว่า จะเปรียบเหมือนท้องทะเล หรือ ท้องฟ้า ซึ่งมีความกว้างใหญ่ไพศาล ไม่สามารถหยั่งความลึกและขอบเขตพื้นนี้เหล่านี้ได้ หากเมื่อเจอคลื่นลมพายุ ใจของเราจะสงบ หรือ ผันไปตามคลื่นหรือไม่ หากชีวิตต้องเจอปัญหาต่างๆ อะไรคือสิ่งที่ควบคุมใจของเราให้สงบและสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เรามาอ่านกันเถอะ >>> Here we go)
ใจมีฐานที่ตั้งถาวรอยู่ที่กลางท้องหรือกลางกายของมนุษย์ เรียกว่า จุดศูนย์กลางกาย เป็นจุดที่ทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า จุดศูนย์ถ่วงของร่างกาย ณ จุดนี้เป็นบริเวณที่โลกส่งแรงโน้มถ่วงมาดึงดูดร่างกายคนไว้ ทำให้ไม่มีใครลอยหลุดไปจากโลก
การหาจุดศูนย์กลางกายในเชิงปฏิบัติก็ทำได้ไม่ยาก เพียงสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ แล้วลมหายใจไปสุดที่ตรงไหนตรงนั้น คือ ศูนย์กลางกาย จากการเจริญภาวนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ท่านยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า ศูนย์กลางกายของผู้ใดก็อยู่ตรงกลางท้องระดับเหนือสะดือสองนิ้วมือของผู้นั้น นอกจากเป็นที่อยู่ถาวรของใจแล้ว ยังเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น ของผู้นั้นด้วย ยิ่งกว่านั้นพระเดชพระคุณท่านยังยืนยันอีกว่า ถ้านำใจมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายนี้ได้ ใจย่อมผ่องใส เบิกบาน เกิดบุญทันทีและเกิดในปริมาณที่มากมายมหาศาลด้วย
คุณสมบัติของใจ
ท่านผู้รู้จริงแนะไว้ว่า ใจเป็นนามธรรม เห็นได้ยาก ตามนุษย์มองไม่เห็น แต่เห็นได้ด้วยใจที่ใสสะอาด กายของผู้ใด ก็ต้องทำหน้าที่เป็นบ้านให้ใจของผู้นั้นอยู่อาศัย นอกจากนี้ใจยังมีคุณสมบัติซับซ้อนรู้เห็นได้ยากอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องรีบรู้ คือ
๑. ใจชอบแวบหนีออกไปเที่ยวภายนอกกาย คือ ไปหารูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสของสิ่งแวดล้อม ๕ ตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก เหมือนสุกรชอบหนีลงไปนอนเกลือกอยู่ในโคลนตม ยิ่งทารกนั้นเติบใหญ่มากขึ้นเท่าใด ใจยิ่งดิ้นรนออกไปไขว่คว้าหารูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสมากขึ้นเท่านั้น
๒. ใจชอบคิดกวัดแกว่ง ไม่ชอบหยุดอยู่ในอารมณ์เดียว เหมือนลิงชอบโดดไปโดดมาจากต้นไม้กิ่งหนึ่งไปยังอีกกิ่งหนึ่งเรื่อยไป ไม่ชอบอยู่นิ่งในอิริยาบถเดียว ใจเมื่อคิดเรื่องแรกไม่ทันจบ ก็แกว่งไปคิดเรื่องต่อ ๆ ไป จึงเป็นการคิดประเภทฉาบฉวย เข้าไม่ถึงลักษณะสำคัญหรือสาระแท้จริงของสิ่งที่กำลังคิดนั้น ติดอยู่แค่ลักษณะเปลือกนอก เพราะเหตุนี้ เมื่อถึงคราวต้องพูด ต้องทำเรื่องลึกซึ้งสำคัญ จึงเกิดความผิดพลาดเป็นประจำ
๓. ใจถ้าเตลิดหนีเที่ยวไปติดจมปลัก ในอารมณ์น่าใครใดแล้วย่อมข่มยาก ห้ามยาก ดึงกลับยาก ไม่ว่าไปติดหล่มจมปลักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสใด ๆ ก็ตาม จะเหมือนผู้ติดยาเสพติดให้โทษ ติดอบายมุขทั้งหลาย นอกจากเลิกยากยังพร้อมจะโหดเหี้ยมต่อผู้หวังดีที่เข้าไปห้ามปรามอีกด้วย ทางที่ดีคือ รีบเข้มงวดกวดขันตนเองด้วยการ ไม่ดู ไม่ฟัง ไม่ดม ไม่ดื่ม ไม่แตะต้อง และไม่นึกคิดในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนแล้วเลือกดู ฟัง ดมดื่ม แตะต้อง และนึกคิด เฉพาะสิ่งที่เหมาะที่ควรเท่านั้น
๔. ใจทรงพลังยิ่งนักทั้งด้านสร้างสรรค์และทำลาย จึงสามารถแวบหนีเที่ยวไปได้ไกล ๆ และไปได้เร็วมาก แม้ข้ามน้ำ ข้ามฟ้า ข้ามจักรวาลไปถึงดวงดาว ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ไปได้ ไปได้แม้วันละหลาย ๆ เที่ยว โดยไม่ต้องพึ่งยานพาหนะใด ๆ
๕. ใจสามารถฝึกให้ดีอย่างไรก็ได้ แต่ขั้นต้นต้องรีบฝึกให้คุ้นกับการอยู่ในตัวได้นาน ๆ ก่อน โดยเฉพาะตรงศูนย์กลางกายเหนือสะดือสองนิ้วมือ เพื่อให้ใจผ่องใสเป็นนิจ จากนั้นจะฝึกให้คิดสร้างสรรค์ดีงามมากเพียงใดก็ฝึกได้ง่าย และมีแต่จะนำความสุขความเจริญมาให้
๖. ใจถูกกิเลสที่เป็นโรคร้ายครอบงำบั่นทอนทำให้อ่อนแอลงทุกด้าน กิเลสฝังตัวนอนเนื่องอยู่ในใจติดตามมาตั้งแต่เกิด ยากที่จะเห็นได้ แต่ถ้าใจแวบออกนอกกายเมื่อใด กิเลสเหล่านั้นก็พร้อมจะถาโถมออกมา ทันทีที่ใจกระทบกับอารมณ์และสิ่งแวดล้อม ๕ ภายนอก กิเลสที่ซ่อนอยู่ก็ได้โอกาสแพร่กระจาย ทำให้ใจขุ่นเมื่อนั้น และเพราะความที่ใจขุ่นนั้น จึงคิดผลุนผลัน หลงรัก หลงชอบ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายนอกที่กระทบ จากนั้นการรู้ผิด ๆ คิดผิด ๆ พูดผิด ๆ ทำผิด ๆ บาปและความเดือดร้อนก็เกิดประดังตามมา ในทางตรงกันข้ามถ้าเก็บรักษาใจไว้มั่นคงเป็นนิจที่ศูนย์กลางกาย เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ถูกกระทบด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและความนึกคิดใด ๆ ใจย่อมไม่กระเทือน ยังผ่องใสเป็นปกติ มีอารมณ์ดีอยู่เป็นนิจ ทำให้คิดถูก พูดถูก ทำถูกก่อให้เกิดความสุขตามมาอีกเป็นขบวน
สติสัมปชัญญะเครื่องมือควบคุมใจ
เนื่องจากใจเป็นนามธรรม คือ มีชื่อเรียกแต่ไม่สามารถเห็นรูปร่างลักษณะได้ด้วยตามนุษย์ แต่สามารถเห็นได้ด้วยตาทิพย์ จึงต้องมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ป็นนามธรรม มีความละเอียดประณีตและทรงพลังยิ่งกว่าใจ เพื่อให้สามารถเหนี่ยวรั้งกำกับใจให้อยู่ในตัวเราได้เป็นนิจท่านผู้รู้จริงได้แนะไว้ว่า อุปกรณ์หรือเครื่องมือควบคุมใจไม่ให้เลื่อนลอยหนีเที่ยวนี้ ทุกคนสามารถสร้างขึ้นเองได้ ไม่ต้องไปซื้อหาจากใคร มีอยู่ ๒ ประการเป็นคู่กัน และบัญญัติชื่อให้เรียกด้วยว่า สติ สัมปชัญญะ ทั้งสติและสัมปชัญญะต่างก็มีแต่ชื่อ มีคุณสมบัติเฉพาะ แต่ไม่มีรูปร่างเช่นเดียวกับใจ ทว่าละเอียดประณีตกว่าใจ อย่างไรก็ตามสติสัมปชัญญะเป็นคุณธรรมย่อมไม่เกิดขึ้นเอง จำเป็นต้องฝึกขึ้นมาเพื่อใช้กำกับใจโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับหางเสือเรือที่มีไว้กำกับทิศทางของเรือให้แล่นไปถึงที่หมายโดยปลอดภัยฉะนั้น
การฝึกสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ จึงเป็นรากฐานการศึกษาทุกระดับของมนุษยชาติ เพราะเป็นเครื่องมือกำกับใจให้เข้าถึง และรู้ชัดถึงความจริงของทุกสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง
ใจไม่ชอบหยุดอยู่ในอารมณ์เดียว
เมื่อคิดเรื่องแรกไม่ทันจบ
ก็แกว่งไปคิดเรื่องต่อ ๆ ไป
ความคิดลักษณะนี้จึงเป็นความคิดที่ฉาบฉวย
เข้าไม่ถึงสาระสำคัญที่แท้จริงของเรื่องที่กำลังคิด
เพราะเหตุนี้ เมื่อถึงคราวต้องพูด ต้องทำ
จึงเกิดความผิดพลาดเป็นประจำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา