สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา
ตอน
การศึกษาขาดครูดีไม่ได้
หน้าที่ครูดี
ครูดีจึงต้องเข้ามามีบทบาทหน้าที่ในการจัดการศึกษาให้ถูกต้องแท้จริงให้สมกับความเป็นครู ผู้ควรแก่การเคารพกราบไหว้บูชาของศิษย์ ไม่ว่าจะเป็นครูดีโดยธรรมชาติ คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูดีโดยอาชีพ คือ ครูที่โรงเรียนและสถานศึกษา หรือว่าครูดีโดยขนบธรรมเนียมประเพณี คือ ครูที่วัด ซึ่งได้แก่พระภิกษุและนักบวชในศาสนาต่างต้องเข้ามาทำหน้าที่ครูดีให้ถูกต้องตรงตามความจริง ดังที่ท่านผู้รู้จริงได้สรุปและให้หลักการสำหรับถือปฏิบัติให้เชี่ยวชาญ ๓ ประการ คือ
๑. ละเว้นความประพฤติชั่วทั้งปวง คือ ไม่ทำความชั่วทุกชนิดทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้เต็มความรู้ความสามารถ
๒. ประพฤติความดีทั้งทางกาย วาจา ใจ ให้เต็มความรู้ความสามารถ
๓. ทำใจของตนให้ผ่องใส คือ มุ่งกำจัดทำลายโรคประจำใจ ๓ ประการ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ให้หมดสิ้นเด็ดขาดอย่างเต็มความรู้ความสามารถ ด้วยการภาวนาเก็บใจไว้ที่ศูนย์กลางกายเป็นนิจให้ได้
การประพฤติปฏิบัติตามหลักการ ๓ ประการนี้ แม้ครูต้องผจญกับอุปสรรคมากน้อยเพียงใด แต่เพื่อประโยชน์สุขอย่างถาวร คือ การกำราบปราบปรามความจริงน่าตระหนกประจำโลกที่ถูกมองข้าม ๔ ประการ และเป็นต้นแบบแก่เหล่าศิษย์ผู้น่ารักของท่าน ท่านก็ยอมกัดฟันทน
ความเป็นครูดี จึงมิได้อยู่ที่มีตำแหน่งวิชาการ มิใช่อยู่ที่ตำแหน่งบริหาร มิใช่อยู่ที่ความมีชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาที่ครูทำงาน มิใช่อยู่ที่เงินเดือนสูง ๆ มิใช่อยู่ที่ความร่ำรวย ตลอดจนมิใช่มีความก้าวหน้าทันสมัยทางเทคโนโลยี แต่ความเป็นครูดีกลับอยู่ที่ความมีวิญญาณแห่งความเป็นครูต่อลูกศิษย์ของท่านและคนทั่วไป กล่าวคือ
๑. ครูดีย่อมไม่ยอมให้ลูกศิษย์ทำชั่วทุกชนิดทั้งต่อหน้าและลับหลัง จึงทั้งพร่ำสอน พร่ำทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ว่า ถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควร-ไม่ควร คุณ-โทษ ประโยชน์-มิใช่ประโยชน์ เหมาะสม-ไม่เหมาะสม สะดวกสบาย-ลำบาก โง่-ฉลาด เป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร มีผลต่อตนเอง-ส่วนรวมอย่างไร ทั้งปัจจุบัน-อนาคต ศิษย์แต่ละวัยแต่ละชั้นเรียนมีความชั่วอะไร ที่ต้องขนาบแล้วขนาบอีก ให้ห่างไกลเว้นขาด แม้ความชั่วในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
๒. ครูดีย่อมแนะนำส่งเสริมให้ลูกศิษย์ตั้งอยู่ในความดี ความดีที่ลูกศิษย์แต่ละเพศวัยชั้นเรียน จะต้องรีบรู้ รีบประพฤติมีอะไรบ้าง ครูดีต้องวิเคราะห์นำมาจำแนกสั่งสอน ฝึกฝนลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ครบถ้วนกระบวนการของการทำความดีนั้น ๆ พร้อมทั้งอธิบายขยายความให้เหตุให้ผลตามหลักความจริงกายภาพและจิตภาพ อีกทั้งให้โอกาสลูกศิษย์ชักถามได้อย่างเต็มที่ เพราะครูดีย่อมประพฤติปฏิบัติตั้งตนอยู่ในความดีเป็นนิจ กระทั่งเป็นนิสัยดีประจำตัวครูดีอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรจะต้องปิดบังให้ลูกศิษย์เคลือบแคลงสงสัย แต่พร้อมเป็นต้นแบบที่ดีให้ดูอยู่แล้วทุกเวลา
๓. ครูดีย่อมแนะนำส่งเสริมลูกศิษย์ให้หมั่นทำใจให้ผ่องใสเป็นนิจ การฝึกฝนให้ลูกศิษย์มีสติมั่น หมั่นเก็บใจไว้กลางกายเป็นนิจ เป็นกิจเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของครูดี ที่จะต้องทำอย่างเคร่งครัดและเร่งด่วน เพราะใจที่ประคองเก็บรักษาไว้มั่นเป็นนิจตรงกลางกายเท่านั้น จึงผ่องใสเต็มที่และมีกำลังใจสูงสุด เหมาะที่จะใช้หักห้ามใจให้ละเว้นการกระทำชั่วทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นการทำชั่วทางกาย วาจา หรือใจ ในทางตรงข้ามก็มีกำลังใจสูงสุดเหมาะในการทำความดีทั้งทางกาย วาจา และใจอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ใจที่ผ่องใสอยู่กลางกายเป็นนิจนี้ยังเป็นเหตุให้ใจสว่าง สามารถเห็นและรู้ความจริงของสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ได้ชัดเจนถูกต้องมากที่สุด อันเป็นที่มาของการจำ การคิด การรู้ทั่วอย่างถูกต้อง คือก่อให้เกิดปัญญาแก่ผู้นั้นได้ง่าย ทั้งปัญญา ระดับรู้จำ ระดับรู้ขบคิด และหากฝึกใจให้หยุดนิ่งไว้กลางกายกระทั่งชำนาญ ย่อมเกิดการรู้เห็นจากความสว่างภายใน เรียกว่า ญาณทัสสนะ ในระดับใดระดับหนึ่งได้ด้วย
ผลจากการทุ่มเทพัฒนาแก้ไขตนเองเพื่อเป็นต้นแบบทำความดีให้แก่ศิษย์ และการขนาบศิษย์แล้วขนาบอีกชนิดไม่ยั้งมือ ไม่ยอมเลิก สิ่งที่ครูจะได้รับทันทีโดยอัตโนมัติแก่ตนเอง ก็คือ เป็นผู้มีปัญญา มีความบริสุทธิ์ และมีความกรุณาตามท่านผู้รู้จริงทั้งหลายในอดีตอย่างแน่นอน
เพราะหาครูดีมีความรู้ความสามารถในการเก็บใจไว้กลางกายได้ยาก เยาวชนของแต่ละชาติจำนวนมากจึงไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ที่สำคัญ ส่งผลให้ขาดสติสัมปชัญญะปล่อยใจตนเองออกนอกกายเป็นนิจ ใจของเขาเหล่านั้นจึงขุ่นมัวเป็นปกติ เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิดเป็นปกติ ใจหมดภูมิต้านทานความชั่วเป็นปกติ มีกำลังในการทำความดีอ่อนล้าเป็นปกติ จึงมีปัญหาเยาวชนวัยรุ่นจมอยู่กับอบายมุขชนิดต่าง ๆ ทั้งติดยาเสพติดให้โทษ ยกพวกทำร้ายกันเป็นเรื่องปกติทุกประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า โลกกำลังโหยหาครูดี
วันนี้หากศิษย์คนใดมีวาสนาดี ได้พบครูดีประเภททุ่มเทชีวิตจิตใจขนาบแล้วขนาบอีกให้ลูกศิษย์เว้นชั่วพร่ำสอน ฝึกฝน อบรม ให้ลูกศิษย์เคย คุ้น ชิน ต่อการทำความดี จ้ำจี้จ้ำไชให้ลูกศิษย์หมั่นเก็บใจไว้ในกายให้ใจผ่องใสเป็นนิจก่อน แล้วจึงถ่ายทอดวิชาการทั้งกายภาพและจิตภาพให้ แม้เป็นศิษย์ของท่านเพียงวันเดียวก็พึงเคารพกราบไหว้
บูชาท่านจนตลอดชีวิตเถิด เพราะเพียงได้เห็นได้ยินคำสอนของท่าน แม้ไม่มีโอกาสซักถามท่านอย่างจริงจังก็สามารถยึดถือท่านเป็นต้นแบบความประพฤติดี เพื่อปิดนรกเปิดสวรรค์ เบิกทางแห่งความสุขความเจริญให้แก่ตนได้แล้ว
พระคุณของท่านแม้เพียงเท่านี้ เราก็ไม่อาจจะหาสิ่งใดมาตอบแทนบุญคุณท่านได้แล้ว ศิษย์ทั้งหลายจึงพึงเคารพนอบน้อมบูชาคุณท่านตลอดกาลนาน
ครูดีท่านจึงจัดการศึกษาให้แก่ศิษย์โดยยึดสติสัมปชัญญะเป็นแกนกลาง ดังภาพที่ ๑๕
จากภาพที่ ๑๕ สติสัมชัญญะเป็นคุณธรรมกำกับใจของครูดีและศิษย์ให้อยู่ภายในกาย ใจจึงผ่องใส มีพลัง ที่จะขบคิดกระทั่งรู้ชัดความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติ เมื่อต้องประพฤติปฏิบัติก็มีสัมปชัญญะรู้ตัว ทำอย่างเหมาะสมรอบคอบ ถูกต้องตรงตามความจริง ทำด้วยใจที่เบิกบาน แช่มชื่น อารมณ์ดีอารมณ์เดียว การรู้ความจริงก็ยิ่งชัดเจน แจ่มแจ้ง เพราะได้รู้ ได้ปฏิบัติ ได้เห็นด้วยตนเอง ความมั่นใจในความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้ รีบประพฤติก็ยิ่งมั่นคง เห็นด้วยใจตนเองที่ผ่องใสอีกว่า สติสัมปชัญญะเป็นคุณธรรมเบื้องต้นด่านแรกที่จะนำไปสู่ความจริงทางโลกและความจริงเหนือโลก
การศึกษาที่ท้จริงเกิดขึ้นเมื่อมีครูดีและศิษย์ดี เพราะต่างเป็นผู้รักการฝึกฝนตนเองให้มีสติสัมปชัญญะนั่นเอง อีกทั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อม ๕ ที่สะอาด เป็นระเบียบ คือ
๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เวลา ฤดูกาล อากาศปกติ ไม่แปรปรวน
๒. สิ่งแวดล้อมที่เป็นสัตว์ ไม่มีสัตว์ร้าย สัตว์มีพิษ สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยรบกวน
๓. สิ่งแวดล้อมที่เป็นคน คือมีครูดี มีเพื่อนนักเรียนดี
๔. สิ่งแวดล้อมที่เป็นห้องเรียน สะอาด เป็นระเบียบ แสงสว่างพอ อากาศถ่ายเทสะดวกอุปกรณ์การเรียนการสอนครบ
๕. สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติมีบทฝึกนิสัย มีลำดับการฝึกสติสัมปชัญญะ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ