ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๖ : ความหมายการศึกษา

 


สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา

ตอน

ความหมายการศึกษา 

          ตลอดมานับพัน ๆ ปี ผู้ใฝ่การศึกษาแต่ละยุคได้มองเห็นตรงกันว่า แท้ที่จริงแล้วความสงบสุขของผู้คนทั้งโลกต้องเกิดจากความสงบสุขของโลกใบเล็ก คือ กายและใจของตนเองก่อน เพราะฉะนั้นถ้าทำให้แต่ละคนรู้จักตนเองและควบคุมตนเองได้ คือ ไม่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น โลกทั้งโลกย่อมร่มเย็นเป็นสุขได้เอง โดยไม่ต้องรอให้มีผู้วิเศษหรือเทวดาองค์ใดจุติลงมาจัดการปกครองโลกให้มนุษย์
          ถ้าเช่นนั้น อะไรคือกลไกหรืออุปกรณ์ที่จะทำให้คนทั้งโลกรู้จักปกครองตนเองให้ได้ดังกล่าว คำตอบคือการศึกษา แล้วการศึกษาที่สมบูรณ์แท้จริงคืออะไร
          การศึกษา คือ การพัฒนาให้ผู้คนแต่ละคน ๑) สามารถควบคุมปกครองตนเองได้ ไม่ก่อความทุกข์ความเดือดร้อนใด ๆ ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ๒) สามารถใช้กาย วาจา ใจของตน ตลอดจนความรู้ความสามารถศิลปวิทยาทั้งหลายที่ตนมี ไปสร้างประโยชน์สุขให้แก่ตนและโลกนี้ได้เต็มที่สมกับเพศวัย ๓)  สามารถฝึกฝนอบรมใจตนเองให้ผ่องใสยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด
          การจะพัฒนาตนให้ได้เช่นนั้น ผู้ศึกษาจำเป็นต้อง ๑) หมั่นมองเข้าไปในตนให้รู้จริงเรื่องร่างกาย กลไกการทำงานในร่างกาย และความเชื่อมโยงระหว่างกายกับใจ ๒) หมั่นพิจารณาแก้ไขความประพฤติของตน ทั้งด้านส่วนตนและส่วนรวม ๓) หมั่นเจริญสมาธิภาวนาให้ใจผ่องใสจนเกิดเป็นปัญญาจากการรู้เห็นภายในให้มาก ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ คือ
          ๑. เพื่อแสวงหาความรู้ชัดความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้เกี่ยวกับตนเอง และสิ่งแวดล้อม ๕
          ๒. เพื่อแสวงหาความรู้ชัดความจริงที่ต้องรีบประพฤติปฏิบัติ
          ๓. เพื่อรีบประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสมตรงตามความจริงที่ต้องรีบรู้ ที่ต้องรีบประพฤติ ให้เคย คุ้นชิน ติดแน่นฝังใจ กลายเป็นนิสัยดีประจำตน
          ๔. เพื่อตั้งใจฝึกสติเก็บใจไว้กลางกายให้ได้เป็นนิจ มีสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมขณะคิด-พูด-ทำ จึงเป็นผู้สามารถดับความเดือดร้อนที่อาจจะเกิดตามมาทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
          ๕. เพื่อเพียรอบรม สั่งสอน ฝึกฝน บุตรหลาน ลูกศิษย์ ผู้อื่น ให้รู้ชัดความจริงที่ต้องรีบรู้ และรีบประพฤติปฏิบัติให้ตรงตามความจริงนั้นเป็นนิสัย
          สรุปได้ว่า การศึกษาเป็นการแสวงหา ค้นคว้าทดลอง ฝึกฝนตนเองให้รู้ชัดความจริงที่ต้องรีบรู้ แล้วรีบนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดเป็นความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อดับทุกข์เพิ่มสุขให้แก่ตนเองและเพื่อนร่วมโลกอย่างเต็มที่เต็มกำลังตลอดไป โดยเริ่มต้นจากการฝึกสติสัมปชัญญะให้เกิดเป็นคุณธรรมที่หนักแน่นมั่นคงก่อน เพื่อใช้ควบคุมใจให้ผ่องใส สว่างไสวตรงศูนย์กลางกายเป็นนิจ ให้ใจเกิดความรักดี รังเกียจความชั่วยิ่งชีวิต แล้วนำความรู้ ความสามารถที่เกิดจากการศึกษาไปใช้ทำความดีให้เกิดความสุขความเจริญแก่ตนเองและสรรพสัตว์ต่อไป

3 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา