สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา
ตอน
ใจเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ทำให้รู้ความจริง
วิธีรู้ความจริง
ท่านผู้รู้จริงได้สรุปวิธีแสวงหาความรู้จริงหรือวิธีรู้ความจริงทั้งสรรพสัตว์และสรรพสิ่งไว้ ๓ วิธีด้วยกัน คือ๑. รู้ความจริงจากการสดับตรับฟัง เป็นการรู้ความจริงระดับต้น ซึ่งเกิดจากการตามหาท่านผู้รู้จริงให้พบและได้ฟังคำสอนจากท่านโดยตรง หากท่านผู้รู้จริงได้ลาโลกไปแล้ว ก็ต้องพยายามหาศิษย์ของท่านผู้รู้จริงด้านจิตภาพให้พบ เพื่อรับฟังความรู้จริงที่ลึกซึ้งโดยตรงจากศิษย์ของท่านหรือจากศิษย์ของศิษย์ของท่านก็ยังดี ถ้าหาแม้ศิษย์ของศิษย์ท่านไม่พบ อย่างน้อยต้องหาอ่านความรู้จริงจิตภาพจากตำราที่จดบันทึกของท่าน หรือหาฟังจากผู้ใดก็ตามที่ท่องจำคำสอนของท่นผู้รู้จริงได้ก็ยิ่งดี ส่วนความรู้จริงทางด้านกายภาพสามารถหารับฟังจากผู้รู้จริงด้านนั้น ๆ ได้ไม่ยากในปัจจุบัน
ความรู้จริงที่ได้ฟัง ได้อ่านแล้วเหล่านั้นแม้เราจะเข้าใจตามทันบ้างไม่ทันบ้างก็ตาม ย่อมเป็นประโยชน์มากเพราะได้พัฒนาจากความรู้จริงระดับการฟัง การอ่าน เป็นความรู้จริงระดับความจำเก็บไว้ในใจแล้ว นี้เป็นการรู้ความจริงด้วยวิธีสดับตรับฟัง
๒. รู้ความจริงจากการขบคิด เนื่องจากความจริงด้วยวิธีสดับตรับฟังหรือระดับจำเก็บไว้ในใจแล้ว มี ๒ ประเภท คือ ประเภทที่ ๑ ความรู้จริงระดับฟังหรือจำจากท่านผู้รู้ดังกล่าวแล้วในข้อแรก ประเภทที่ ๒ ความรู้จริงระดับจำ ที่เกิดจากการได้เห็น ได้ยิน ได้ดม ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสแล้ว เคยคิดอย่างฉาบฉวยด้วยตนเองจนรู้ หากเราไม่ปล่อยผ่านความรู้จริงระดับฟังหรือจำทั้ง : ประเภทนี้ แต่นำไปขบคิด ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ช้ำแล้วซ้ำอีก กระทั่งเห็นความเชื่อมโยง ความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ เหตุการณ์ที่เราสนใจนั้น จนกระทั่งรู้ความจริงที่สลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลังนั้น ย่อมจัดเป็นวิธีรู้ความจริงจากการขบคิดหรือคิดจนรู้ ยิ่งเมื่อนำความรู้จริงจากการขบคิดแล้วไปทดลองพิสูจน์หรือใช้งานจริง ปรากฎผลว่าจริงตรงตามที่คิดไว้ก็ยิ่งเชื่อมั่นในความจริงที่มาจากการขบคิดกระทั่งรู้ยิ่งขึ้น ความจริงต่าง ๆ ด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ ตลอดทั้งโลกได้มาจากวิธีที่ ๑ และ ๒ ซึ่งเป็นความจริงกายภาพเท่านั้น
๓. รู้ความจริงจากการเห็นภายในด้วยใจที่ผ่องใสที่สว่าง ผู้ต้องการรู้ความจริงด้วยวิธีนี้ ต้องฝึกใจไม่ให้แวบหนีเที่ยวออกนอกกาย เพราะเป็นเหตุให้ใจขุ่นมัว สลัวลง ยิ่งใจไปหลงยึดติด รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนอกกาย หนาแน่นมากเท่าใด ความขุ่นมัวยิ่งมากขึ้นเท่านั้น จากมืดสลัวก็กลายเป็นมืดมิด คือ ไม่เห็นความจริงจิตภาพใด ๆ เลย บุคคลประเภทปล่อยใจแวบออกนอกตัวเป็นนิจเช่นนี้ ย่อมปฏิเสธความมีอยู่จริงของใจ และความจริงด้านจิตภาพโดยสิ้นเชิง
สำหรับผู้ฝึกใจให้หยุดนิ่ง อยู่ที่ศูนย์กลางกายได้เป็นนิจ แม้ใจจะแวบออกนอกกายบ้างก็เพียงบางครั้ง และแวบไปไม่นานก็กลับมาหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายตามเดิม ใจของบุคคลเช่นนี้ย่อมสว่างโพลงอยู่ภายในอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้เห็นความจริงกายภาพและจิตภาพของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งได้ชัดทั้งลืมตาและหลับตา ไม่มีอะไรหลงเหลือให้เคลือบแคลงสงสัย จึงรู้ความจริงกายภาพจากการเห็นด้วยตาเนื้อ และรู้ความจริงจากภายในหรือความจริงจิตภาพจากตาธรรมโดยไม่ต้องคิด การรู้ความจริงจิตภาพด้วยวิธีการนี้เป็นวิธีการรู้ที่มีชื่อเฉพาะว่า รู้ด้วยญาณทัสสนะ เป็นความรู้เฉพาะตัวของท่านผู้นั้น แม้ยากต่อการอธิบายให้ผู้ที่ยังไม่สามารถทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายเข้าใจได้ แต่สามารถพิสูจน์ได้ ถ้าผู้ต้องการพิสูจน์นั้นฝึกใจของตนให้หยุดนิ่งภายในได้ตามท่าน และท่านเหล่านั้นแม้มีอยู่ในปัจจุบันไม่มากแต่ก็ยังมี ซึ่งส่วนมากก็เป็นนักบวช เช่น พระภิกษุในพระพุทธศาสนา หากผู้ใดสนใจใคร่รู้เห็นจริงท่านก็ยินดีจะสอนสั่งความรู้ในการเก็บใจไว้ในกายให้ได้เป็นนิจตามท่าน
เครื่องมือรู้ความจริง
วิธีรู้ความจริงทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมานั้น ต่างต้องใช้ใจเป็นเครื่องมือรู้ทั้งสิ้น เพราะใจเป็นธาตุรู้ หมายถึงการที่จะรู้ความจริงทั้งหลายได้นั้น ไม่ใช้กาย ไม่ใช้สมอง แต่ต้องใช้ใจที่อยู่ในกาย เมื่อใจและกายอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะเมื่อใจอยู่ที่กลางกาย ตรงบริเวณที่โลกส่งแรงโน้มถ่วงมาดึงดูดสรรพสัตว์ไม่ให้หลุดลอยเคว้งคว้างออกไปนอกโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้ง ที่อยู่ เป็นบ้านของใจ ทำให้ใจและกายเป็นหนึ่งเดียวกัน ใจไร้แรงต้านบีบคั้น ไร้แรงดึงให้กระเจิงแวบออกนอกกาย กายก็จะสงบ ผ่อนคลาย ความปวดเมื่อยล้าใด ๆ ของกายก็มลายหายสูญไปสิ้น ส่วนใจก็จะผ่อนคลาย ว่าง โปร่ง โล่ง เบา กระชุ่มกระชวย ทรงพลังไม่จำกัด ความผ่องใสของใจก็จะฉายแสง ทำให้เห็นข้อมูลความจริงของปรากฎการณ์ เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นลำดับ ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ จึงรู้ความจริงไม่ผิดเพี้ยนจากการเห็น ซึ่งเป็นการเห็นด้วยตนเองจากใจที่ผ่องใสนั่นเอง สำหรับสมองเป็นสำนักงานให้ใจใช้สั่งงานใจจึงเป็นเครื่องมือรู้ความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ไม่มีเครื่องมืออื่นใด การรู้ความจริงด้วยวิธีการฟังก็ดี ด้วยการคิดก็ดี ด้วยการเห็นจากใจก็ดี ความจริงทั้งหมดเหล่านี้ต้องใช้ใจที่ฝึกมาดี คือ มีสติสัมปชัญญะกำกับเป็นนิจเท่านั้น ใจจึงจะจดจ่อ เกิดความตั้งใจฟัง สังเกตเห็น รับรู้ จำได้หมายรู้ คิดไตร่ตรอง กระทั่งรู้ความจริงกายภาพ-จิตภาพ ของสรรพสัตว์และสรรพสิ่งได้หมดจด
จากความจริงที่ว่า ใจเท่านั้นที่เป็นเครื่องมือรู้ความจริง โดยต้องเป็นใจที่มีสติสัมปชัญญะกำกับอย่างรอบคอบมั่นคงด้วย การศึกษาที่แท้จริงจึงอยู่ที่การฝึกฝน พัฒนาใจให้มีสติสัมปชัญญะเป็นอันดับแรกก่อน ก็เพราะมองข้ามความจริงประการสำคัญที่สุดนี้ การศึกษาเกือบทั้งโลก จึงเน้นทุ่มเทสรรพความรู้ และงบประมาณ ไปที่การพัฒนาวิธีการได้ความรู้ มากกว่ามุ่งพัฒนาใจที่เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงสรรพความจริง ทั้งวิธีรู้ความจริงก็มุ่งเน้นเฉพาะจากการฟัง การคิดค้นคว้าทดลองจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ ด้วยเทคโนโลยีและเครื่องมือทันสมัยล้ำยุค ยิ่งได้ข้อมูลความรู้กว้างไกล ก็ยิ่งภูมิใจว่าตนมีความรู้เหนือกว่าผู้ใด อันเป็นทางมาแห่งความร่ำรวย ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่หารู้ไม่ว่า ยิ่งเน้นแต่วิธีการรู้ความจริง แต่ไม่เน้นการพัฒนาใจ ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความผ่องใสเป็นนิจ เพื่อเป็นกุญแจไขประตูแห่งความจริง ผู้เรียนจะยิ่งห่างไกลจากความจริง สับสนระหว่างข้อมูลจริง-เท็จจำนวนมากมายที่ไหลบ่าท่วมทันจนแยกไม่ออก ไม่ต้องกล่าวถึงว่าอะไรคือความดี-ความชั่ว ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีการใดมารู้ก็ยิ่งแยกไม่ออก
สรุปได้ว่า สติสัมปชัญญะเป็นรากฐานการศึกษาที่แท้จริงแต่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีครูดีมาสั่งสอนฝึกฝนอบรมอย่างใกล้ชิดให้ จึงจะสามารถเข้าถึงแก่นของการศึกษาที่แท้จริงได้
ใจเท่านั้น
ที่เป็นเครื่องมือรู้ความจริง
โดยต้องเป็นใจที่มีสติสัมปชัญญะ
กำกับอย่างรอบคอบมั่นคงด้วย
การศึกษาที่แท้จริงจึงอยู่ที่การฝึกฝน
พัฒนาใจให้มีสติสัมปชัญญะเป็นอันดับแรก
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ
- เว็บกัลายาณมิตร หนังสือ Ebook "สติ สัมปชัญญะ" หน้าที่ ๑๐๘-๑๑๒
- ภาพดี ๆ๐๗๒
- การ์ด canva ออกแบบโดย brightmind
น้อมกราบอนุโมทนาสาธุครับ
ตอบลบ