ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๖ : การศึกษาขาดครูดีไม่ได้ : เหตุผลที่การศึกษาต้องมีครูดี

 


สติสัมปชัญญะ | รากฐานการศึกษา

ตอน

การศึกษาขาดครูดีไม่ได้

เหตุผลที่การศึกษาต้องมีครูดี

          กระบี่ที่ไร้ฝัก ระเบิดที่ไร้สลักนิรภัย อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตของผู้ครอบครองและผู้เกี่ยวข้องได้ฉันใดความรู้จริงในสิ่งทั้งหลายแม้มีประโยชน์มาก แต่แฝงภัยอันตรายแก่ผู้ไม่มีวินัยควบคุมกาย วาจา และใจตนเองได้ฉันนั้น
          วินัยที่ใช้ควบคุมกายและวาจาไม่ให้ไปทำความเดือดร้อนตนเองและผู้อื่นสำหรับบุคคลทั่วไปคือ ศีล ๕ ในวันธรรมดาและศีล ๘ ในวันอุโบสถหรือวันพระ สำหรับสามเณร คือศีล ๑๐ และพระภิกษุ คือศีล ๒๒๗ ส่วนวินัยสำหรับควบคุมจิตใจไม่ให้ไปคิดร้าย ๆ ไม่ให้นำความรู้ไปใช้ในทางร้าย ๆ แต่ส่งเสริมให้นำไปใช้ในทางดีหรือทำความดี คือ สติสัมปชัญญะ
          ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญศาสตร์ต่าง ๆ นับแต่โบราณกาล จึงระมัดระวังมาก นอกจากตนไม่ใช้ความรู้ความสามารถในศาสตร์นั้น ๆ ไปทำความเดือดร้อนแก่ตนเองและใคร ๆ แล้ว ยังระมัดระวังในเรื่องการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์หรือคนอื่นต่อไปด้วยว่า ต้องเป็นผู้ได้รับการฝึกให้มีสติสัมปชัญญะมั่นคงมากพอเพื่อกำกับการใช้ความรู้ของท่านก่อน จึงถ่ายทอดประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ผู้นั้น โดยถือว่าเป็นการปิดนรก เปิดสวรรค์ เบิกทางแห่งความสุขความเจริญให้แก่ศิษย์นั้นด้วย
          หัวใจสำคัญของการศึกษโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาของชาติ จึงอยู่ที่การพัฒนาผู้เรียน หรือประชาชนทุกคนในชาติให้สามารถประคับประคองใจ ควบคุมใจตนเอง และใจลูกหลานตัวน้อย ๆ ของตน ไม่ให้ใจแวบหนีเที่ยวออกไปนอกกายตั้งแต่เล็กด้วยวิธีการอันเหมาะสม โดยการฝึกให้
          ๑. หมั่นมองเข้ามาในตน เพื่อความรอบรู้ความจริงกายภาพ-จิตภาพที่ต้องรีบรู้และรีบประพฤติให้ครบถ้วนชัดเจน ถูกต้องพอเหมาะแก่เพศและวัยนั้น ๆ
          ๒. หมั่นพิจารณาการประพฤติปฏิบัติตน ว่าตนได้นำความจริงที่ต้องรีบรู้และที่ต้องรีบประพฤติที่เรียนจากโรงเรียน มาปฏิบัติให้เกิดเป็นนิสัยดี ๆ ซึ่งเป็นการแก้ไขนิสัยไม่ดีเดิม ๆ และเพิ่มพูนนิสัยดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
          ๓. หมั่นเจริญสมาธิภาวนาให้ใจหยุดนิ่งในตัวได้ครั้งละนาน ๆ เพื่อเห็นและรู้ตนเองว่า ใจผ่องใสและหยุดนิ่งอยู่ในกลางกายได้ดีเพียงใด จึงเป็นการหลอมละลายความรู้วิชาการด้านต่าง ๆ จากในห้องเรียน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองในชีวิตจริง ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน อย่างเหมาะสมแก่เพศและวัย
          ความรู้วิชาการ ความประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา และสติสัมปชัญญะที่มั่นคงสำหรับควบคุมใจ จึงได้รับการหล่อหลอมให้เกิดขึ้นในเยาวชนและประชาชนทุกคน เพื่อให้เป็นทั้งลูกที่ดีของพ่อแม่ ศิษย์ที่ดีของครู พ่อแม่ผู้ปกครองที่ประเสริฐของลูก และเป็นพลเมืองที่ดีสำหรับพัฒนาประเทศชาติสืบไป

วินัยสำหรับควบคุมจิตใจ

ไม่ให้ไปคิดร้าย ๆ

ไม่ให้นำความรู้ไปใช้ในทางร้าย ๆ
แต่ส่งเสริมให้นำไปใช้ในทางดี
หรือทำความดี คือ สติสัมปชัญญะ 
 
 

2 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา