เรามาเริ่มอ่านบทที่ ๑ กันได้เลย ว่าหลวงพ่อท่านสอนอะไรเราไว้บ้าง การที่เราเริ่มทำอะไรให้ได้ดีนั้น เราจะต้องเริ่มต้นด้วยความสนใจใคร่รู้ว่าเรื่องนั้นๆ มีเนื้อหาในการสอนอบรมเราอย่างไรบ้าง
ทุกคนอยากเป็นคนดี แต่ดีได้ไม่ทุกคน
ตอน ความหมายความดี
ผู้คนทั้งโลกไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนอยากเป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่มีเพียงบางคนที่ได้เป็นคนดีสมความตั้งใจ เพราะความเป็นคนดีไม่อาจสำเร็จได้ เพียงด้วยความอยากเป็น แต่เป็นคนดีได้ เพราะได้ทำความดีมาอย่างรอบคอบ ต่อเนื่องและมากพอจนติดเป็นนิสัยรักในการคิดดี พูดดี ทำดีฝังใจ ไม่หลงเหลือนิสัย คิด พูด ทำอะไรมักง่าย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบเสียหาย ให้เป็นหอกตามทิ่มแทงตนเองและผู้อื่น ให้ต้องเดือดร้อนภายหลัง
ความหมายความดี
ท่านผู้รู้จริงเคยให้คำจำกัดความของกรรมดีไว้ว่า
บุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง มีใจบิกบานอิ่มเอมเสวยผลของกรรมอยู่ กรรมที่
ทำแล้วย่อมเป็นกรรมดี
จากคำจำกัดความของกรรมดี แสดงว่า
๑. ความดีเป็นผลของการทำกรรมดี ความชั่วเป็นผลของการทำกรรมชั่ว
เหตุ ผล
ทำกรรมดี ความดี ความสุข ความเจริญ
ทำกรรมชั่ว ความชั่ว ความทุกข์ ความเสื่อม
๒. ลักษณะอาการของผู้ทำความดี มีลักษณะดังนี้
๒.๑ ผู้ทำ มีความตั้งใจดี ความดีของใครย่อมไม่เกิดขึ้นเองลอย ๆ แต่เกิดจากความตั้งใจดีของผู้นั้น
๒.๒ ผู้ทำ มีความพยายามทำกรรมดีนั้น ๆ จนกระทั่งประสบความสำเร็จตามที่ตั้งไว้
๒.๓ เกิดประโยชน์ ต่อผู้ทำความดีนั้นเป็นอันดับแรก คือ มีใจผ่องใสเบิกบานขึ้น อิ่มเอมใจยิ่งขึ้น และหากการกระทำนั้นยิ่งทำให้ใจของผู้ทำและผู้อื่นเบิกบานผ่องใสมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ เป็นความดีมากขึ้นเท่านั้น
๒.๔ ไม่ก่อความเดือดร้อนใด ๆ แก่ผู้ทำเองและผู้อื่นตามมาในภายหลังโดยเด็ดขาด แต่ในขณะทำงานนั้น หากมีเหตุให้ต้องเหนื่อยยากบ้าง มีอุปสรรคบ้าง ซึ่งจะเป็นเพราะตนเองบกพร่อง สิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งต้องอดทนและหาทางแก้ไขให้ลุล่วงจนกว่าจะสำเร็จก็ไม่จัดว่าเป็นความเดือดร้อน
ลักษณะอาการของผู้ทำความดี-ความไม่ดี ดังภาพที่ ๑
ตัวอย่างความเดือดร้อนหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นขณะทำความดี แต่ไม่ถือว่าเป็นความเสียหายของการทำความดีนั้น
ชาวนาชาวไร่ ต้องกรำแดด ลม ฝน ขณะทำไร่ ไถนา ถึงกับปวดร้าวทั้งตัว ปวดหัว เป็นไข้บ้างเพียงวันสองวันก็หาย กรณีนี้ไม่จัดว่เป็นความเดือดร้อน เพระแม้ไม่ได้ทำงานบางครั้งก็มีอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ หรือในการบริจาคทานที่มีผู้ร่วมทำบุญจำนวนมาก มีพระภิกษุจำนวนมาก ๆ มีการจราจรคับคั่ง แม้มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เสร็จงานก็มีแต่ความปลื้มใจตามมา เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นความเดือดร้อน
แผนภาพที่ ๑ ลักษณะอาการของคนที่ทำความดี-ความไม่ดี
ครูต้องเหนื่อยพร่ำสอนศิษย์ ศิษย์ต้องอดหลับอดนอนเพื่อทำการบ้าน ต้องขยันทำแบบฝึกหัด อดไปเที่ยวเล่นสนุก พ่อแม่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินคำเทอมให้ลูก จัดว่าเป็นความดี เพราะสุดท้ายทั้งศิษย์ ครู พ่อแม่ ไม่มีใครเดือดร้อนในภายหลัง ทุกคนมีแต่ได้ประโยชน์ตามมา คือ
๑) ศิษย์มีความรู้ไปประกอบการงานเลี้ยงชีพ
๒) ครูภาคภูมิใจที่ศิษย์เป็นคนดีมีความสามารถ
๓) พ่อแม่ได้ลูกเก่งและดีไว้พึ่งพายามชรา
๔) ประเทศชาติได้คนดีไว้พัฒนาประเทศ
ในทางกลับกัน เมื่อเด็กเอาแต่เล่นสนุกเฮฮา หนีโรงเรียน ครูก็ไม่ว่ากล่าวให้ตนเองเหนื่อย พ่อแม่ก็ปล่อยเลยตามเลย ลูกอยากเรียนก็เรียน ไม่อยากเรียนตนก็ชอบ ไม่ต้องเหนื่อยหาเงินเสียค่เทอม แถมพ่อแม่เองก็ติดอบายมุข คุณประโยชน์ปัจจุบันใด ๆ ก็ไม่เกิด ประโยชน์อนาคตก็ไม่ได้ ทำลายทั้งอนาคตของตน ทำลายทั้งอนาคตของชาติให้ยับเยิน เหล่านี้นับเป็นความชั่วความเดือดร้อนทั้งสิ้น
การวัดประเมินตัดสินความดีของผู้ใด จึงไม่ได้วัดจากความเหนื่อยมาก เหนื่อยน้อย สบายมาก สบายน้อย ง่าย หรือยากขณะทำงาน แต่วัดกันที่ความไม่มีเรื่องเดือดร้อนตามมาถึงตนและคนอื่นทั้งที่อยู่ใกล้ไกล ที่สำคัญตนเองต้องได้ประโยชน์เต็มที่จากการทำความดีนั้น ส่วนผู้อื่นได้ประโยชน์มากน้อยเท่าไรถือว่าเป็นผลพลอยได้
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ
- เว็บกัลายาณมิตร หนังสือ Ebook "สติ สัมปชัญญะ" บทที่๑ หน้าที่ ๑๕-๑๙
- ภาพดี ๆ๐๗๒
- การ์ดcanva ออกแบบโดย brightmind
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา