ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565

สติ สัมปชัญญะ : บทที่ ๑ ตอน สิ่งแวดล้อม ๕ ที่ต้องคำนึงถึงก่อนทำความดี

                   

ทุกคนอยากเป็นคนดี แต่ดีได้ไม่ทุกคน
ตอน

สิ่งแวดล้อม ๕ ที่ต้องคำนึงถึงก่อนทำความดี

          สิ่งแวดล้อม ๕ ประเภท ที่ต้องคำนึงก่อนการทำงานทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเดือดร้อนเสียหายที่จะตามมาคือ
          ๑. สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ เช่น แดด ลม ฝน ดิน ต้นไม้ ต้นหญ้า ฯลฯ
          ๒. สิ่งแวดล้อมที่เป็นสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า สัตว์ปีdแมลงต่าง ๆ ฯลฯ
          ๓. สิ่งแวดล้อมที่เป็นมนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ หญิง ชาย ต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างผิวพรรณ ฯลฯ
          ๔. สิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุสิ่งของ อุปกรณ์ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาอำนวยความสะดวก ซึ่งวัตถุสิ่งของแต่ละชนิดล้วนมีผลข้างเคียงให้ต้องระมัดระวังด้วยกันทั้งลิ้น
          ๕. สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติ เป็นข้อปฏิบัติที่ให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงที่เกี่ยวกับตนเอง สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ สัตว์ คน ชุมชน สังคม และวัตถุสิ่งของ เพื่อให้ใจอยู่ในกายมีความผ่องใสอยู่เป็นนิจ มีสติระลึกรู้สิ่งที่ควรคิด ถ้อยคำที่ควรพูด และกิจที่ต้องทำได้อย่างถูกต้อง เกิดเป็นนิสัยดีงามประจำตัวแต่ละคน จะได้อยู่ร่วมกันสงบสุขร่มเย็น สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤตินี้มี ๒ ประเภท คือ
            ๕.๑ สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติที่กำหนดโดยมนุษย์ แบบแผนนี้เป็นกฎและจริยธรรมของสังคม ที่สังคมมนุษย์ เช่น ประเทศ รัฐบาล สังคม ชุมชน องค์กร หมู่คณะ ครอบครัว ฯลฯ ร่วมกันกำหนดขึ้น กฎนี้มีการประกาศให้ทราบทั่วหน้า หากใครไม่ทำตามก็มีบทลงโทษตามกฎหมาย หรือตามกฎของสังคมนั้น ๆ เช่น ระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณี กฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย เป็นต้น สิ่งแวดล้อมประเภทนี้มีผิดบ้าง ถูกบ้างไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าผู้บัญญัติกฎมีความรอบรู้ในเรื่องความจริงของโลกและชีวิตถูกต้องมากน้อยเพียงใด ความประพฤติของเขาถูกต้องตรงต่อความจริงที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์เพียงใด หากผู้บัญญัติยึดประโยชน์ตนเฉพาะหน้า ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่จะตามมาแก่ตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม สังคมที่มีผู้บัญญัติกฎเช่นนี้ย่อมก่อความเดือดร้อนต่อสังคมโลกอย่างมหันต์
             ๕.๒ สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติที่มนุษย์ไม่ได้กำหนด แต่เป็นสภาวสากลและเป็นกฎสากลของโลก ได้แก่ กฏแห่งกรรม กฏไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นธรรมชาติความจริงของทุกสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง เป็นกฎที่ไม่มีการประกาศให้ทราบ แต่ปรากฏให้เห็นจนมนุษย์ชาชิน จึงมองข้ามและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่เป็นกฎที่แน่นอนและควบคุมสรรพสัตว์และสรรพสิ่ง ให้อยู่ใต้อำนาจของกฎสากลนี้ ดังตัวอย่าง
      ใครรักษาศีล ๕                      เป็นการทำความดี ได้กายมนุษย์ ได้ใจใสระดับมนุษย์
                                                    เข้าถึงความเป็นมนุษย์ได้
       ใครมีหิริโอตตัปปะ               เป็นการทำความดี ได้กายเทวดา ได้ใจใสระดับเทวดา
                                                    เข้าถึงความเป็นเทวดาได้
       ใครมีพรหมวิหารธรรม         เป็นการทำความดี ได้กายพรหม ได้ใจใสระดับพรหม
                                                    เข้าถึงความเป็นพรหมได้
      ใครไร้ศีล ๕                            เป็นการทำความชั่ว แม้กายเป็นคน แต่ใจขุ่นมืดระดับสัตว์
                                                    เข้าถึงความเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือสัตว์นรกได้
       ใครช่องเสพอบายมุข ๖       เป็นการทำความชั่ว แม้กายเป็นคน แต่ใจขุ่นมืดระดับสัตว์
                                                    เข้าถึงความเป็นสัตว์ดิรัจฉานหรือสัตว์นรกได้
                                                                         ม.อุ. ๑๔/๒๘๙-๒๕๓)/๓๔๙-๓๕๗ (ไทย.มจร)
   สิ่งแวดล้อมที่เป็นแบบแผนความประพฤติสากลนี้ แม้ยากที่จะมีผู้ใดคันพบได้ แต่มีผู้รู้จริงจำนวนมากคันพบแล้วนำมาเปิดเผย บัญญัติ สั่งสอน หากเราทั้งหลายตั้งใจเพียรศึกษา รีบรู้ รีบประพฤติตามคำสอนของท่านผู้รู้จริง ใจของเราก็จะยิ่งผ่องใสขึ้น เมื่อใจใสขึ้นก็อยากทำความดี เว้นขาดจากความชั่วให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

    อย่างไรก็ตาม สิ่งแวดล้อม ( ประเภทข้างต้น ยังสามารถจำแนกออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ๑) สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต คือ คนและสัตว์ หรือเรียกว่า สรรพสัตว์ และ ๒) สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต คือ สรรพสิ่ง ทั้งสรรพสัตว์และสรรพสิ่งรวมกัน เรียกว่า สิ่งแวดล้อมทั้งปวง สิ่งแวดล้อมทั้งปวงย่อมตกอยู่ภายใต้กฎสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งแวดล้อมที่เป็นคน สภาพใจใสหรือขุ่นของคนมีผลอย่างมากต่อความเจริญและความเสื่อมของสิ่งแวดล้อมทั้งปวง คนไม่ว่าทราบหรือไม่ทราบกฎสากลของโลกนี้ ถ้าใจขุ่นมัวย่อมปฏิบัติตนไม่ถูกต้อง กลายเป็นผู้ทำลายตนและสิ่งแวดล้อมรอบตน แต่หากใครทราบและปฏิบัติตนได้ถูกต้องจนใจใส ย่อมเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและแก่สิ่งแวดล้อมทั้งปวงอีกด้วย
     ความรู้จริงถึงลักษณะหรือคุณสมบัติพิเศษของสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างให้ครบทั้ง ๕ ประเภทอย่างถ้วนถี่ รอบคอบก่อนลงมือทำความดีทุกครั้ง จึงเป็นเรื่องสำคัญละจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างล้วนมีทั้งส่วนที่เป็นคุณและเป็นโทษต่อมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น
     ที่สำคัญการทำความดีไม่ว่ามากหรือน้อย ย่อมไม่ต่างกันกับการเดินทวนกระแสน้ำ ผู้เดินทวนกระแสน้ำ นอกจากต้องออกแรงเดินฝากระแสน้ำที่ไหลมาปะทะแล้ว ยังต้องระวังโขดหิน หลุมบ่อ หลักตอที่จมอยู่ใต้น้ำด้วย ยิ่งน้ำขุ่นหรือยามค่ำคืนยิ่งต้องระวังอันตรายให้มากฉันใด การทำความดีไม่ว่ามากหรือน้อยก็ต้องใช้ ๑) แรงกาย แรงสติปัญญา ความรู้ ความสามารถที่ตนเองมีให้เต็มที่ ๒) ต้องระมัดระวังภัยอันอาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่อำนวย ๓) ต้องหาประโยชน์ที่มีจากสิ่งแวดล้อมแต่ละอย่างมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เต็มที่ ความดีที่ตั้งใจทำจึงจะลุล่วงด้วยดีฉันนั้น

     ข้อควรระวังอย่างยิ่งคือ คนส่วนมากมักหลงทึกทักว่า ตนรู้จริงในสิ่งแวดล้อม ๕ ดีแล้ว เพราะต่างคนต่างอยู่กับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มาตั้งแต่เกิด จึงขาดความระมัดระวัง ขาดการเตรียมความพร้อมก่อนลงมือทำความดี ด้วยเหตุนี้แม้ตั้งใจและลงมือทำความดีอย่างเต็มที่ ก็ยังยากที่จะหลีกเสี่ยงความผิดพลาดเสียหายและความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปีจึงเกิดเหตุร้ายซ้ำซาก เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ ไฟฟ้าช็อต รถคว่ำ ซึ่งหลายครั้งหลายคราวก็เกิดเหตุตรงสถานที่เดิม ๆ ซ้ำ ๆ บางคราวแม้แต่ผู้ชำนาญการด้านนั้น ๆ ก็ทำให้เกิดความเสียหายเสียเอง เพราะประสบกับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ดิน ฟ้าอากาศแปรปรวน เป็นต้น จึงกลายเป็นว่า คนเราทำดีได้ยาก ทำชั่วได้ง่าย แล้วพากันท้อถอยในการทำความดี ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพราะเขาเหล่านั้นประมาท ไม่รู้จริงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ



1 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา