กัณฑ์ที่ ๒๖ มงคลสูตร
ความไม่ประมาทในอะไร
ความไม่ประมาทน่ะ ไม่ประมาทในอะไร ไม่ประมาทในการรักษาสุจริต ละทุจริตเสีย ทำสุจริตให้เกิดมีเสมอไป ไม่ประมาทในการละความเห็นผิด ทำความเห็นถูกให้มีเสมอไป ไม่ประมาทในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ทำให้กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต มีเป็นเนืองนิตย์ไม่ขาดสาย ไม่ประมาทในกายบริสุทธิ์ ไม่ประมาทเหล่านี้เป็นความไม่ประมาทเผินๆ เป็นความไม่ประมาทของคนมีปัญญาไม่ละเอียดนัก มีปัญญาหยาบ ถ้าว่าไม่ประมาทจริง ไม่ประมาทในการทำใจให้หยุดให้นิ่ง ทำใจให้หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ ทำใจให้หยุดนิ่งจนกระทั่งเห็นดวงใส เท่าดวงจันทร์เท่าดวงอาทิตย์ ถ้าเห็นแล้วก็ไม่ปล่อยละที่นี้ นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด อุจจาระ ปัสสาวะ ชำเลืองไว้เสมอ มองอยู่เสมอ ใจจรดอยู่เสมอ ไม่เผลอกันละ ไม่ให้ใจหลุดทีเดียวจากดวงธรรมที่เกิดขึ้นนั่น ไม่ให้ใจหลุดทีเดียว ติดทีเดียว ถ้าติดได้ขนาดนั้นไม่ทำให้หลุดเลย นั่ง นอน เดิน ยืน เว้นไว้แต่หลับ นั่นประพฤติตนเขาเรียกว่า สาตฺติกา นิจฺจ ทฬฺหปรกฺกมา ผู้มีความเพียรก้าวหน้า หมั่นเป็นนิตย์ มีผลเจริญไปหน้าไม่มีถอยหลังเลยดังนั้น เรียกว่าคนฉลาด นั้นเรียกว่าฉลาดจริงๆ ละ ไม่เผลอจริงๆ ละ การไม่เผลอเช่นนั้นแหละ จะเข้าถึงดวงธรรมเป็นลำดับไป จะเข้าถึงดวงศีลเป็นลำดับไป หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงศีลถูกส่วนเข้า ไม่เผลอในการหยุดอยู่นั้น จะเข้าถึงดวงสมาธิ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงสมาธิ ไม่เลินเล่อเผลอตัว เข้าถึงดวงปัญญา หยุดอยู่กลางดวงปัญญาไม่เผลอ เดินหน้าไปอย่างเดียวไม่ถอยหลังกลับ หยุดนิ่งอยู่กลางดวงปัญญาไม่เผลอ แล้วจะเห็นดวงวิมุตติ หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตติอีกไม่เผลอ แล้วก็จะเห็นดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งอยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะอีกไม่เผลอ แล้วจะเห็นกายมนุษย์ละเอียด ถึงกายมนุษย์ละเอียดแล้ว ใจมนุษย์ละเอียดก็หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ไม่เผลอเหมือนกัน เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างนี้แหละ จนกระทั่งถึงตลอดกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด กายโสดา กายโสดาละเอียด กายสกทาคา กายสกทาคาละเอียด กายอนาคา กายอนาคาละเอียด กายอรหัต กายอรหัตละเอียด มาถึงพระอรหัตละเอียดก็รู้ว่า อ้อ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ไปอย่างนี้ ท่านไม่ประมาทอย่างนี้จึงได้ถึงอย่างนี้
เพราะมนุษย์ปุถุชนเหลวไหลเลินเล่อเผลอตัว มีเงินสักเล็กสักน้อยก็ใช้กันเสียอย่างฟุ่มเฟือยทีเดียว เทกระเป้าใช้ทีเดียว ไม่รู้ว่าจะต้องไปหาเงินที่ไหน ไม่รู้ว่าตัวโง่ถึงขนาดนี้จึงได้ลำบาก เป็นนายเงินไม่ได้ ต้องเป็นบ่าวเงินร่ำไปนั้นฉันใด เมื่อเข้าถึงธรรมแล้วปล่อยธรรมเสียแล้วก็ทำใหม่อีกต่อไป อย่างนั้นจะเป็นธรรมสามี จะเป็นเจ้าธรรมไม่ได้จะต้องเป็นบ่าวธรรมแบบหาเงินนั่นแหละ ต้องปฏิบัติร่ำไป พอเข้าถึงธรรมแล้วยึดเอาไว้ไม่ปล่อยทีเดียว จนกระทั่งถึงที่สุดทีเดียวอย่างนี้เรียกว่าธรรมสามี พระศาสดาเป็นธรรมสามี เป็นเจ้าพระอรหันต์ขีณาสพเมื่อไม่ปล่อยธรรมเช่นนี้เรียกว่าธรรมสามี ไม่ปล่อยธรรม ธรรมเช่นนี้เรียกว่า อปุปมาโท จ ธมฺเมสุ เป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าธรรมหมวดไหน หมู่ไหน ดวงไหน เมื่อเข้าถึงแล้วเป็นไม่ปล่อยกันทีเดียว เด็ดขาดอย่างนี้ชายก็เรียกว่าชายสามารถ หญิงก็เรียกว่าหญิงสามารถ จะเป็นที่พึ่งแก่ตัวและบุคคลผู้อื่นทั่วไปในอัตภาพชาตินี้
เหตุนั้น แก้มาในมงคล ๓ ข้อนี้เป็นเหตุเครื่องถึงซึ่งความเจริญอันสูงสุด ผู้ใดเว้นขาดจากความชั่วด้วยกาย วาจา ใจแล้ว สำรวมอยู่ในความไม่เมาทั้งหลาย สำรวมจากการดื่มน้ำที่ทำบุคคลผู้ดื่มเมา เป็นดนมีสติ ไม่เลินเล่อไม่เผลอตัว เมื่อมีสติไม่เลินเล่อไม่เผลอตัวแล้ว ก็ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย เมื่อไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ละก็ ไปนิพพานได้แล้วไม่ต้องสงสัย เป็นหลักใหญ่ใจความในทางพุทธศาสนา โลกก็ดังนี้ เมื่อประกอบการงานที่ไหนก็เอาธรรม ๓ ประการนี้เข้าไปสวมเข้า มันก็ทะลุทุกสิ่งทุกประการในการงานนั้นๆ
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ
- รวมพระธรรมเทศนาพระมงคลเทพมุนี : กัณฑ์ที่ ๒๖ มงคลสูตร หน้าที่ ๓๔๖-๓๔๗
- พระไตรปิฎกออนไลน์ ขุ.ขุ. (บาลี) ๒๕/๖/๔
- ภาพจากเว็บภาพ Pixabay
น้อมกราบสาธุ สาธุ สาธุครับ
ตอบลบ🏵️🌼🌺🌸💮🌸🌺🌼🏵️🌼🌺💮🏵️