ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ชีวิตสมณะ : ชีวิตนักบวชนั้นประเสริฐสุด

ชีวิตนักบวชนั้นประเสริฐสุด

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในสามัญญผลสูตรว่า 

"ฆราวาสเป็นทางคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชาเป็นทางปลอดโปร่ง" 

หมายความว่า การครองชีวิตเป็นฆราวาสนั้น ย่อมมีโอกาสปฏิบัติกุศลธรรมได้น้อยกว่าการเป็นนักบวช ดังที่เราท่านประจักษ์แจ้งแกใจกันดี ทั้งนี้เพราะการดำรงตนเป็นฆราวาสต้องใช้เวลาในวันหนึ่ง ๆ ให้หมดไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว จนบางคนไม่มีเวลาแม้แต่จะสวดมนต์ไหว้พระในแต่ละวัน ซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนไม่เคยมีเวลาศึกษาหาความรู้เรื่องพระธรรมเลย ทั้ง ๆ ที่เรียกตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชน แต่ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระพุทธศาสนา จึงขาดหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ขาดหลักคิดด้วยโยนิโสมนสิการ เมื่อขาดสิ่งนี้เสียแล้ว คนเราย่อมประพฤติตนไปตามอำนาจกิเลสอันได้แก่ ความโลภ ความโกรธและความหลง เป็นต้น 

การที่ต้องเสียเวลาไปกับกิจทางโลกเช่นนี้ ย่อมยากที่จะมีโอกาสในการประพฤติธรรม ยากที่จะมีเวลาในการประกอบคุณงามความดีอย่างเต็มที่ จึงกล่าวได้ว่า "ฆราวาสเป็นทางคับแคบ" 

สภาพชีวิตของฆราวาสทุกระดับ ทุกสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับผู้บริหารประเทศ ไปจนกระทั่งสังคมของบุคคลระดับหาเช้ากินค่ำ ต่างก็ตกอยู่ในทางคับแคบนี้ด้วยกันทั้งสิ้น นอกจากนี้การที่ต้องอยู่ในสังคมที่ประกอบด้วยทั้งคนดีและคนชั่วซึ่งบางครั้งก็เลือกคบได้ บางครั้งก็เลือกไม่ได้ จึงมีโอกาสที่บุคคลจะก่อกรรมทำเข็ญต่อกัน แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน แก่งแย่งชิงดีกัน ให้ร้ายป้ายสีกันหรือหักหลังกัน จนอาจถึงกับทำลายล้างผลาญชีวิตกันได้ เหล่านี้คือ "ทางมาแห่งธุลี" 

ตราบใดที่คนเรายังครองชีวิตอยู่ในฆราวาสวิสัย ก็ย่อมยากที่จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาตนเองให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวงได้ นั่นย่อมหมายความว่า เขาจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในวัฏฏสงสารอีกมิรู้สุดรู้สิ้น ซึ่งหากพลาดพลั้งไปก่อกรรมทำเข็ญขั้นรุนแรงเข้า ก็ย่อมจะต้องเสวยผลกรรมอยู่ในนรกโดยไม่มีผู้ใดสามารถช่วยลดหย่อนให้ได้ 

ด้วยเหตุนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสนับสนุนการบวช ทั้งทรงชี้ให้เห็นคุณค่าอันประเสริฐยิ่งของการบวช ซึ่งแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรนี้อย่างชัดเจน นั่นคือ "บรรพชาหรือการดำเนินชีวิตเป็นนักบวชเป็นทางปลอดโปร่ง"

โยนิโสมนสิการ คือ ความรู้จักคิดตริตรองพิจารณาหาเหตุผล รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว แล้วยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้น ยังอกุศลธรรมให้เสื่อมไป หรือการคิดถูกวิธีจนสามารถสาวไปหาต้นเหตุได้

พิเศษสำหรับท่านที่อ่านบนมือถือ

ด้านล่างสุดของบทความ จะมีป้ายข้อความเพื่อแชร์บทความธรรมะ มีข้อความว่า "ใช้ร่วมกัน" กดปุ่มป้ายข้อความ

จะปรากฎหน้าต่างใหม่ จากนั้นสไลด์มือเลื่อนขึ้น ก็จะมองเห็นโลโก้ หรือ ปุ่มแชร์ เช่น Email Facebook twitter จากนั้นก็เลือกปุ่มแชร์ตามที่ท่านสะดวก

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

  • หนังสือพระแท้ หน้าที่ ๒๓ - ๒๕ โดย พระเผด็จ ทัตตชีโว (สมณศักดิ์ ในขณะนั้น คือ พระภาวนาวิริยคุณ), กรุงเทพฯ,มูลนิธิธรรมกาย, บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๐.
  • รูปภาพจากบล็อกภาพดีๆ ๐๗๒ 

7 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา