ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ชีวิตนักบวช สุขดีที่หนึ่งเลย

เหล่ากอสมณะ ชีวิตนักบวช สุขดีที่หนึ่งเลย

วัตถุประสงค์ของการบวชก็เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง สลัดตนให้พ้นจากกองทุกข์ เพื่อประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น และประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นสิ่งที่น่าปีติยินดีในการบวชอุทิศชีวิตให้กับพระศาสนาของลูกเณรในครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีชีวิตใดจะประเสริฐเลิศเท่ากับชีวิตของนักบวชอีกแล้ว เป็นชีวิตสุดท้ายในสังสารวัฏ หลังจากที่เราผ่านชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ มานับภพนับชาติไม่ถ้วน เดี๋ยวลำเค็ญ เดี๋ยวสบาย เกิดเป็นคนชนชั้นล่างบ้าง ชั้นกลางบ้าง ชั้นสูงบ้าง พลัดไปสู่อบายบ้าง พอไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ได้สร้างบุญก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ วน ๆ เวียน ๆ กันไปอยู่อย่างนี้


ดังนั้น ชีวิตสุดท้าย คือ ชีวิตของนักบวช ชีวิตของพุทธบุตร ถ้าเป็นหญิงก็เป็นภิกษุณี ถ้าเป็นชายก็เป็นพระภิกษุ นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ชุดสุดท้าย ฉะนั้น ชุดนี้เป็นชุดที่ประเสริฐเลิศที่สุด ใครได้อยู่ในชุดนี้ต้องปลื้มอกปลื้มใจทีเดียว เพราะว่า มนุษย์ในโลกนี้มีประมาณ ๖-๗ พันล้านคน ผู้ชายมีประมาณ ๓ พันล้านคน ผู้หญิง ๓ พันล้านคน ที่บวชได้ คือ ฝ่ายชาย แต่ก็บวชไม่ได้ทั้งหมด แม้เป็นเทวดา ครุฑ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ พรหม อรูปพรหม ก็บวชไม่ได้ อย่างในพิธีอุปสมบท ลำดับแรกเลย พระอุปัชฌาย์ต้องถามก่อนว่า เป็นมนุษย์รึ ? ขนาดว่าเห็นเป็นมนุษย์ชัด ๆ เข้ามาในโบสถ์ ยังต้องถาม ก็แปลว่า ถ้าไม่ใช่มนุษย์บวชไม่ได้ แม้เป็นมนุษย์ที่ด้อยโอกาสก็บวชไม่ได้ เป็นหญิงไปครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นผู้ฉิง (กระเทย) อีกเท่าไรก็ไม่รู้ ก็หมดสิทธิ์

ผู้ได้โอกาสที่จะบวชจริง ๆ มีไม่กี่คนในโลก ไม่คิดไม่แปลก ยิ่งคิดยิ่งแปลก ดังนั้น ผู้ที่บวช คือ ผู้ได้โอกาส ผู้ที่ไม่ได้บวชทั้งหมด คือ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีบุญเท่านั้นจึงอยู่ในเพศของนักบวชได้ นี่เป็นความจริงแท้ แต่บางทีนักบวชบางรูปอาจจะลืมไป คิดว่า เราเป็นผู้ด้อยโอกาส เกิดมายากจน มีชีวิตลำเค็ญ ไม่รู้จะไปทางไหน เขาเลยส่งเข้าวัด มองเผิน ๆ อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่มองลึก ๆ สิ คนจนก็มีมากมายในโลก คนรวยก็เยอะแยะในโลก แต่ไม่ได้บวช แปลว่า ต้องมีบุญมีบารมีข้ามชาติ ต้องมีบุญผังแห่งการบวชข้ามชาติมามาก บวชช่วงสั้นบ้าง บวชช่วงยาวบ้าง ผังบวชตลอดชีวิตบ้าง ต่อเนื่องกันมา


เพราะฉะนั้น เมื่อเรามาเกิดแล้ว จะเกิดจากไหนไม่สำคัญ สำคัญว่า เกิดมาแล้ว ถึงเวลาต้องบวชเป็นสามเณร เป็นพระภิกษุอย่างนี้ จึงจะถือว่า เป็นผู้ได้โอกาส เป็นผู้มีบุญญาธิการที่สั่งสมมาดีแล้ว เพราะฉะนั้น จะต้องทำความเห็นใหม่ คิดผิดคิดใหม่ได้ ใครคิดว่า เราเป็นผู้ด้อยโอกาสแล้วมาบวช คิดใหม่ แต่คิดใหม่อย่าให้ผิด ต้องให้มีปีติและภาคภูมิใจในทุกครั้งที่ลืมตามาเห็นผ้ากาสาวพัสตร์ห่มครองกาย และแม้แต่นอนหลับก็ต้องฝันให้เห็น ถ้าไม่ฝันก็จะต้องมีจิตสำนึก มีวิญญาณของนักบวช นั่นแหละคือ ความปีติและภาคภูมิใจของเรา

ดูตัวอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นหลัก ความเป็นใหญ่เป็นโตใคร ๆ ก็ปรารถนากันทั้งนั้น สละแม้กระทั่งทรัพย์ อวัยวะและชีวิต เพื่อความเป็นใหญ่เป็นโต แต่พระองค์ทรงสละความเป็นใหญ่เป็นโต เคยเป็นถึงพระเจ้าจักรพรรดิ แต่ในที่สุดก็ออกบวช แปลว่า เพศนักบวชเหนือกว่าทุก ๆ เพศภาวะ นี่คือสิ่งที่เราควรจะปีติและภาคภูมิใจ ถ้าคิดตรงนี้ไม่ออก ทำงานพระศาสนายาก การบวชก็ไม่มีความสุข ถ้าคิดตรงนี้ออก สุขทุกคืนทุกวันเลย บวชเป็นพระเณรนี่สุขดีที่หนึ่งเลย สุขมาก สุขทุกคืนสุขทุกวัน หลับตาก็สุข ลืมตาก็สุข สุขสองเวลาทั้งหลับตากับลืมตา หายใจเข้าก็สุข หายใจออกก็สุข แม้กลั้นหายใจยังสุขเลย

 
ดังนั้น เนื่องในวาระโอกาสที่ลูกสามเณรจะอุปสมบทอุทิศชีวิตเป็นพุทธบูชาในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรแก่การอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อจึงขออำนวยพรให้การบวชครั้งนี้ เป็นการบวชทั้งภายนอกและภายใน โดยภายนอกได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ มีศีล ๒๒๗ ข้อ และภายในให้มีพระธรรมกายที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ด้วยอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นพระแท้ที่โลกต้องการ
เรียบเรียงจากคำสอนคุณครูไม่ใหญ่

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและภาพ

  • หนังสือEBook เหล่าก่อสมณะ บทที่ ๑ ชีวิตนักบวชสุขดีที่หนึ่งเลย
  • ภาพจากเว็บล็อกภาพดี ๆ ๐๗๒

13 ความคิดเห็น:

  1. ขอกราบอนุโมทนาบุญ สาธุ

    ตอบลบ
  2. กราบอนุโมทนาสาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  3. กราบอนุโมทนาสาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  4. กราบอนุโมทนาสาธุครับ

    ตอบลบ
  5. กราบอนุโมทนาบุญสาธุค่ะ

    ตอบลบ

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา