ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พึงรักษาพระพุทธศาสนาไว้

ชีวิตสมณะ...พึงรักษาพระพุทธศาสนาไว้


หลวงพ่อเห็นวัดร้างแล้ว เศร้าใจ เขาเขียนมาให้อ่านว่า มีวัดร้าง ๓๐,๐๐๐ กว่าไร่ทั่วประเทศ วัดร้าง ๓๐,๐๐๐ กว่าไร่นี่เป็นของใคร ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่สร้างวัดแรกก็ สาธุ ขอยกแผ่นดินผืนนี้ถวายพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้น วัดเป็นของพระพุทธเจ้า ถ้าจะเอาไปให้เขาเช่า หรือทำอะไรต้องไปขออนุญาตพระพุทธเจ้าก่อน ทีนี้ท่านไม่อยู่แล้วทำอย่างไร ก็ไปขอกับพระพุทธรูป แต่ถ้าท่านนั่งเฉย ๆ ก็อย่าไปนึกว่า ท่านยอมรับโดยอริยดุษณี อย่าไปคิดอย่างนั้น

ตอนนี้มีแล้ว คือ เอาที่วัดไปให้เพื่อนต่างศาสนิกเช่า เขาก็สร้างศาสนสถานขึ้นมา สมมุติว่าสัญญา ๓๐ ปี พอครบไปเอาคืน คืนได้แต่ห้ามทุบศาสนสถาน ทุบมีเรื่องกัน ระหว่าง ๒ ความเชื่อนั่นแหละ เรื่องมันก็จะไปกันใหญ่โต เพราะฉะนั้นใครรับผิดชอบตรงนี้ก็น่าจะเอาไปพิจารณากันดูบ้างว่า วัดเป็นที่ของใครและวิธีทำดีที่สุดก็คือ หาพระไปอยู่วัด วัดร้างก็จะได้เปลี่ยนเป็นวัดรุ่ง

ผู้ที่จะมาบวชก็มีมาก ปลดเกษียณแล้วก็ไปบวชหมุนเวียนกันไป อย่างน้อยเพื่อสร้างหนทางสวรรค์นิพพานให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง เราได้รับใช้ชาติมาแล้วอย่างเต็มที่ ตอนนี้เราปลดเกษียณแล้วมาบวช เราผ่านโลกมามากแล้ว อ่านตำรับตำราหนังสือหนังหาเองก็ได้ ถ้าสงสัยก็ไปถามพระอุปัชฌาย์บ้าง ครูบาอาจารย์บ้าง และก็ชวนผู้เฒ่าผู้แก่ แถว ๆ รอบวัด มาสวดมนต์มาฟังเทศน์ฟังธรรมด้วยกัน แค่นี้เราก็สามารถเปลี่ยนวัดร้าง เป็นวัดรุ่งได้ นี่ก็เป็นทางหนึ่ง

หรือทหารปลดประจำการหมุนเวียนกันบวชก็ได้ พอมีพระ มีเณร อยู่เดี๋ยวญาติโยมก็มา วัดร้างตรงนั้นก็จะเป็นแหล่งเนื้อนาบุญให้ชาวบ้านแถว ๆ นั้นได้ตักตวงบุญ เพราะพระรัตนตรัยเท่านั้นที่เป็นเนื้อนาบุญ สิ่งอื่นไม่ใช่ เมื่อวัดร้างเปลี่ยนเป็นวัดรุ่ง เนื้อนาบุญเกิดขึ้น เราก็ไปบำเพ็ญบุญกัน จะให้ทาน จะรักษาศีล หรือเจริญภาวนา ก็ทำได้สะดวก

ชาวพุทธอย่าไปถือว่า ไม่มีการบังคับ แล้วแต่สมัครใจ จะเข้าวัดก็ได้ ไม่เข้าก็ได้ ไม่ใช่นะ กิจของชาวพุทธต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรม ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนากัน วันพระก็ต้องเข้าวัด หมุนเวียนกันไปอย่างนั้น มันเป็นหน้าที่ของชาวพุทธ

ประเทศอินโดนีเซียแต่ก่อนเป็นเมืองพุทธ พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองประมาณพันปี ต่อมาพุทธบริษัท ๔ อ่อนแอ ก็จะมีศาสนาหนึ่งซึ่งมีขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และความเชื่อที่เขาผนึกกำลังกันแน่นประดุจกองทัพทีเดียว ตอนแรกกำลังน้อย ต่อมากำลังเศรษฐกิจการเมืองดี ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีดี ความเชื่อเหนียวแน่น ยึดอำนาจรัฐได้ ก็ล่มสลายพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย เหลือแต่ศาสนสถานบรมพุทโธเป็นสัญลักษณ์ให้ชาวโลกได้รู้ว่า ครั้งหนึ่งพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองขึ้นที่นั่น

เพราะฉะนั้นเมืองไทยต้องระวัง เมื่อไหร่กำลังก้ำกึ่งกันแล้วก็ไม่ฟังกันแล้ว ตอนนี้เขาลองขว้างก้อนอิฐก้อนหินถามทางกัน บนต้นไม้ก็มีข้อความ หรือเอาพระพุทธรูปประดับประดาด้วยกระถางต้นไม้ ดอกไม้ ทดลองดู ถ้าห้ามก็ขอโทษ แต่ถ้าไม่ห้ามก็เอาออก ทำแบบใหม่เพิ่มขึ้น ก็ลองของกันไปเรื่อย ๆ อย่างนี้แหละ เพื่อหยั่งเชิงดูว่า ชาวพุทธมีกำลังแข็งแรงพอไหม ถ้าอ่อนแอก็รุกหนักเข้าไปเรื่อย ๆ พอกำลังก้ำกึ่งกัน เอาละคราวนี้ไม่ยอมกันแล้ว ระวังนะ ไม่ได้พูดให้กลัว แต่พูดให้ค่อย ๆ ช่วยกันคิดพิจารณาให้ดี

เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งไปจับพระสึก ให้จับสอนหรือศึกษา ทั้งพระทั้งเณรทั่วประเทศ กำลังรบหลักจะถึง ๓๐๐,๐๐๐ รูป หรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจจะลดน้อยถอยลง เพราะฉะนั้นเมื่อเรารุกไปข้างหน้าไม่ได้ ต้องรักษาที่มั่นเอาไว้ ยึดพื้นที่กันเอาไว้ก่อน แล้วก็ให้เพิ่มปริมาณของนักบวชตามเปอร์เซ็นต์ของประชากรที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ทอนนักบวชลงไป

คำสอนของพระพุทธศาสนาควรให้มีอยู่ในระบบการศึกษาของเมืองไทยให้เข้มข้นขึ้น ไม่ต้องกลัวว่า เป็นชาวพุทธแล้วจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ไม่จริง เศรษฐกิจกับจิตใจต้องไปคู่กันทั้งสองอย่างจึงจะเจริญ
๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ 

 ขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

  • หนังสือ Ebook ชีวิตสมณะ บทที่ ๒๐ พึงรักษาพระพุทธศาสนาไว้
  • ภาพจากบล็อกดีๆ ๐๗๒ และ เว็บDMC

7 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา