ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

พระภิกษุผู้บวชใหม่ : 3 ข้อหลักธรรมที่เชื่อว่าปฏิบัติไม่ผิด ผู้ปฏิบัติมีชีวิตรุ่งเรือง

การฝึกอบรมพระภิกษุผู้บวชใหม่ของโครงการพระธรรมทายาทปี2563 เพื่อบูชาธรรมพระผู้ปราบมารปีที่ 9 ในธรรมยาตราปี 2564 โดยผ่านกิจวัตรประจำวัน และยังได้ถ่ายทอดการฝึกฝนข้อวัตรปฏิบัติแต่ละวันผ่าน Zoom ให้ญาติโยมทั้งใน และต่างประเทศ ได้เห็นกิจวัตรต่าง ๆ และได้ร่วมอนุโมทนาบุญ กับคณะภิกษุที่ได้ตั้งใจขัดเกลาอุปนิสัย ประพฤติตนตามหลักพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดกิจวัตรประจำวันไว้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน

นอกจากให้มีการดำรงชีพด้วยการถือนิสสัย 4 (ย้อนกลับไปอ่านบทความเดิม) แล้ว ซึ่งเป็นการฝึกให้รู้จักประมาณในการใช้สอยในชีวิตประจำวันตามพื้นฐานปัจจัยสี่ของมนุษย์ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เพื่อให้ผู้บวชจะได้ไม่กังวลและมีห่วงหรือภาระให้ต้องดูแลมากในสมบัติที่ตนมี ชีวิตจะได้ไม่มีปัญหาหรือเป็นทุกข์ในชีวิตประจำวัน มีเวลาในการบำเพ็ญสมณธรรม และปฏิบัติกิจวัตรของเพศบรรพชิต ได้อย่างแท้จริง มุ่งสู่การปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ 8 ได้อย่างเต็มกำลัง พระองค์ทรงได้ให้พระภิกษุผู้บวชใหม่ได้มีหลักธรรมปฏิบัติต่อเนื่องยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อการพัฒนากาย วาจา ใจ สติปัญญา เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ บุคลิกงดงาม น่าเลื่อมใส เป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาแก่ผู้ที่พบเห็น จนสามารถเป็นต้นแบบแห่งความประพฤติที่ดีงาม ให้ทุก ๆ สังคมสามารถนำแบบแผนไปใช้ในการปฏิบัติในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเป็นสุข

 ปฏิบัติ 3 ข้อหลักธรรมทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นสุข และชีวิตรุ่งเรือง

 เมื่อได้ปฏิบัติตนเองอย่างสม่ำเสมอในเรื่องหลักธรรมมรรคมีองค์แปด พระพุทธองค์ก็ยังทรงให้หลักธรรมปฏิบัติมรรคมีองค์แปด อย่างจริงจังและต่อเนื่อง หลักธรรมนั้น คือ การปฏิบัติ "อปัณณกธรรม" ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ว่าจะทำที่ไหน ทำเมื่อไร ทำเวลาใด ทำกับใคร ไม่มีทางผิด ไม่มีทางเสื่อมเสีย มีแต่จะดีท่าเดียว มีด้วยกัน 3 อย่างคือ

1 อินทรียสังวร(การสำรวมอินทรีย์)

อินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ในทางที่จะรับรู้ เช่น ความเป็นใหญ่การรับรู้รส ก็คือ ลิ้น ความเป็นใหญ่การรับรู้ภาพ คือ ตา เป็นต้น เราจึงต้องสำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของตนเองให้ดี ๆ โดยมีสติ มีความระลึกถึงสิ่งที่ทำ จำคำที่พูด มาเป็นเหมือนเพื่อนคู่ใจ เฝ้าระวังตามช่องทางอินทรีย์ต่างๆ "สติ"จึงต้องมีกำลังมากพอสมควรที่จะต้องป้องกัน

ความหมายข้อนี้ก็คือ การสำรวมอินทรีย์ หมายถึงการรู้จักระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เผลอไปดู ไปฟัง ไปดม ไปลิ้มรส ไปสัมผัส แตะต้อง ลุ่มหลงในสิ่งที่ยั่วยวนเย้าใจให้เกิดกิเลส บังคับใจให้เกิดทุกข์ เพราะอยากได้ หรือ ไม่ได้สิ่งของนั้น ๆ เนื่องเพราะตัณหาเกิดขึ้นในใจ หากภิกษุใหม่ได้สำรวมอินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ใจเป็นปกติ ไม่ดิ้นรนซัดส่าย มีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปกับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ต่าง ๆ ไม่หลงใหลไปกับสิ่งยั่วยวนใจ มีใจสงบเมื่อปฏิบัติธรรม และสามารถบรรลุธรรมได้เร็ว

2. โภชเน มัตตัญญุตา

คือ การรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร หมายถึง ภิกษุใหม่รู้ว่าการบริโภคอาหารก็เพียงเพื่อประทังชีวิตให้รอดไปได้ในแต่ละวัน เพื่อเติมพลังงานให้กับร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุสี่ เป็นการบำรุงร่างกาย ดับความหิวกระหาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ รับอาหารด้วยปริมาณที่พอเหมาะในการบำรุงร่างกาย ไม่มักง่าย และเห็นแก่ตัว กินอาหารมากเกินความต้องการ เป็นผู้อยู่ง่ายด้วยอาหาร หากภิกษุใหม่ปฏิบัติได้อย่างเป็นปกติ ผลก็จะส่งให้ดีต่อทางร่างกาย และจิตใจ เมื่อร่างกายแข็งแรงโรคภัยไม่เบียดเบียน ใจย่อมเป็นสุข ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริญ” ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระของชาวโลก มุ่งไปสู่การปฏิบัติธรรม และเจริญภาวนาให้จิตใจสงบสุข และสามารถบรรลุธรรมได้ง่าย และเร็ว

3. ชาคริยานุโยค

คือ ประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่ หมายถึงการปฏิบัติเจริญภาวนา ทำสมาธิ ด้วยอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ตลอดวัน เพื่อมุ่งไปสู่การกำจัดกิเลส ซึ่งการที่ภิกษุใหม่จะประกอบความเพียรได้ทุกอิริยาบถ ก็เพราะปฏิบัติสองข้อเบื้องต้นที่กล่าวมาแล้วให้เป็นปกติ คือ หมายถึงให้เป็นนิสัย เรียกว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรอยู่ตลอดเวลา และได้ทุกอิริยาบถ ผลดีคือ จะช่วยทำให้การปฏิบัติมรรคมีองค์แปดสมบูรณ์ครบถ้วนนั้นเอง

ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นการประกอบตนอยู่ในธรรมเป็นเครื่องตื่น 

นี้คือลักษณะของมัชฌิมาปฏิปทาจริง ๆ ซึ่งก็คือ ทางสายกลาง

 
กล่าวได้ว่า เป็นเรื่องราวของการพัฒนากาย วาจา ใจ เริ่มการดูแลเอาใจใส่สุขภาพตนเอง การฝึกปฏิบัติ เรื่องราวของการใช้ชีวิตในการกิน การอยู่ การนอน ควรทำให้เป็นนิสัย ก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ฝึก และคนอื่น

ฉะนั้น เมื่อภิกษุสงฆ์ใหม่ปฏิบัติมรรคมีองค์แปดเป็นประจำทุกวันอย่างครบถ้วน ถือนิสสัยสี่ และต้องปฏิบัติอปัณณกธรรม3 อย่าง ต่อเนื่องในทุกอิริยาบถ ตลอดวัน ตลอดคืน ก็สามารถ บรรลุธรรมเบื้องต้น ก้าวสู่การปฏิบัติขั้นสูงอย่างต่อเนื่องและสามารถปฏิบัติอริยสัจ 4 หลุดพ้นความทุกข์ เกิดธรรมจักษุ เกิดปัญญา เกิดญาณ ในการพิจารณาสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง พบสุข จิตสงบ มีสติในการดำรงชีวิต เป็นต้นแบบที่ดี เป็นแบบอย่างของคนดี ให้แก่สังคม

กิจวัตรพระธรรมยาตราในปี 2564 ปีที่ 9 นี้ กำลังถ่ายทอดการฝึกของพระภิกษุผู้บวชใหม่ ที่พัฒนาตนเองเป็นหมู่คณะ ได้ขัดกลาตนเอง และประพฤติตน จนเป็นนิสัย เป็นปกติในการดำรงชีวิตในยุคโควิด19 ซึ่งวัดพระธรรมกายและทีมงานอบรมพระธรรมทายาท ได้กำหนดตารางอบรมเพื่อปฏิบัติตนไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารสุขที่กำหนดไว้ในเรื่องความเป็นอยู่ร่วมกัน เว้นระยะห่าง การคัดกรองคนเข้าพื้นที่ การล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย การกินอาหารก็ต้องแยกภาชนะส่วนตัว และเน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลักใหญ่ ดูแลตนเองทั้งร่างกายและจิตใจ และอยู่ร่วมกันกับหมู่คณะ ตามคำแนะนำพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง ซึ่งพระธรรมทายาทก็ได้ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขตลอดเวลาในภาวะโควิด-19 ระบาด ไร้โรคร้าย ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย พร้อมใจกันใช้ชีวิตอย่างมีวินัยตามคำสอน ทำให้พระภิกษุสงฆ์ มีสุขภาพกายแข็งแรง มีสุขภาพใจเป็นสุขตลอดเวลา

กลุ่มชุมชนใดต้องการดำรงชีวิตประจำวันเป็นปกติในช่วง New Normal ก็สามารถนำวิธีการไปใช้ในสังคมทั่วนั้นๆได้ ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ตามแบบแผนการฝึกตนในทางสายกลาง สามารถดูแลร่างกายและจิตใจควบคู่กันไปด้วย ชีวิตก็เป็นสุขแล้ว

 

 

ขอเชิญทุกท่านเข้ารับชมกิจวัตรพระธรรมยาตรา ผ่าน Zoom

โดย ติดตั้งZoom ลงในระบบมือถือ

เข้าลิงค์นี้ เพื่อเลือกห้องที่ท่านต้องการเข้าร่วม 

dmc.tv/2564/rooms

สำหรับห้องญาติโยมใหม่ๆ ชมได้ที่
 
ชื่อห้อง : สาธุชนทั่วไป/1
dmc.tv/2564/1/1 [ Go URL ] 
 
ชื่อห้อง : สาธุชนทั่วไป/2
dmc.tv/2564/1/2 [ Go URL ]

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล และรูปภาพ


1 ความคิดเห็น:

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา