ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ประเมินตน

คุณธรรมเบื้องต้นใดที่ควรใช้ในการประเมินตนเอง


อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา
อตฺตนา หิ สุทนฺเตน นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ
ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน คนอื่นใดเล่าจะเป็นที่พึ่งได้
บุคคลอันมีตนฝึกดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งที่หาได้โดยยาก

ภาพประกอบ พานมาลัยมะลิใช้บูชาดวงแก้ว

ใกล้วาระวันขึ้นปีใหม่สากลที่ต่างกำหนดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชใหม่ บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ได้ทำการสรุปงบดุลในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการวัดผลประกอบการในปีที่ผ่านมา และเป็นแนวทางในการดำเนินกิจการในปีถัดไป แล้ว “พุทธบริษัท” อย่างพวกเราได้มีโอกาสในการวัดผล “คุณธรรม” ในปีที่ผ่านมากันหรือไม่ และควรวัดคุณธรรมในด้านใดบ้าง วันนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างหัวข้อธรรมที่ควรใช้ในการวัดและประเมินคุณธรรมในตัวมาฝากเป็นของขวัญในวาระวันขึ้นปีใหม่แก่ทุกท่าน ซึ่งหัวข้อธรรมดังกล่าวคือ ศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา นั่นเอง

ศรัทธา...คือ ความเชื่อมั่นอย่างมีเหตุมีผล เปรียบเสมือนหางเสือเรือที่คอยคัดท้ายนาวา หากตั้งได้ถูกพิกัดและทิศทางแล้ว ย่อมนำนาวาธรรมไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้โดยไม่ผิดเพี้ยน แล้ว “พิกัด” ที่เราควรไว้เกี่ยวกับศรัทธานั้นมีเรื่องใดบ้าง ในที่นี้ขอยกถึงศรัทธาทั้ง ๔ ประการ กล่าวคือ ความเชื่อมั่นในเรื่องการกระทำ (กัมมสัทธา) และผลแห่งการกระทำ (วิปากสัทธา) ความเชื่อมั่นในความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน (กัมมัสสกตาสัทธา) และความเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (ตถาคตโพธิสัทธา) ศรัทธาทั้ง ๔ ประการนี้หากมีอยู่ในใจไม่หนักแน่น อาจเป็นเหตุให้ล้มเลิกความตั้งใจในการสั่งสมบุญสร้างบารมีได้ทีเดียว แต่ในทางกลับกัน หากมีอยู่ในใจและนับวันจะเพิ่มพูนขึ้น ย่อมเป็นนิมิตหมายว่าเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพานนั้น ย่อมไม่คลาดเคลื่อนเป็นแน่แท้ นี้คือคุณธรรมประการแรกที่เราควรประเมิน

             ทาน...คือ การให้ด้วยเจตนา ๒ ประการ คือ ให้เพื่อสละความตระหนี่ที่มีในใจให้เพื่อสงเคราะห์และอนุเคราะห์ผู้อื่น ๑ แม้พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน ภายหลังจากการได้รับพุทธพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังได้ยกเรื่องของการทำทานขึ้นเป็น “พุทธการกธรรม” ประการแรก ทั้งนี้เพื่อให้เป็นเสบียงติดตามตัวไปในการสร้างบารมี อีกทั้งยังเป็นเครื่องประกันว่า เราจะไม่ขัดสนด้วยโภคทรัพย์ในการเดินทางข้ามห้วงวัฏสงสาร เราจึงไม่ควรดูเบาในเรื่องของการทำทานนี้ สำหรับหลักที่ควรใช้ในการประเมิน คือ เหตุที่ทำให้ทานของเรามีผลอันไพบูลย์ ได้แก่ วัตถุที่นำมาทำทานนั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์ (วัตถุบริสุทธิ์) บุคคล คือ ผู้ให้และผู้รับมีความบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในศีลในธรรม (บุคคลบริสุทธิ์) และเจตนามุ่งหวังในการให้มีความบริสุทธิ์ (เจตนาบริสุทธิ์) นี้คือคุณธรรมประการที่ ๒ จะควรประเมิน

           ศีล...คือ การรักษาปกติของความเป็นมนุษย์ ๕ ประการ กล่าวคือ ไม่เบียดเบียนชีวิต (ศีลข้อที่ ๑) ทรัพย์สิน (ศีลข้อที่ ๒) และครอบครัวของผู้อื่น (ศีลข้อที่ ๓) รักษาความไว้วางใจด้วยคำพูดและการกระทำ (ศีลข้อที่ ๔) รวมถึงไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้สูญเสียสติสัมปชัญญะ (ศีลข้อที่ ๕) อีกทั้งยังให้โอกาสตนเองในการพัฒนาคุณภาพจิตใจด้วยการรักษาอุโบสถศีลหรือศีล ๘ ตามวาระอันสมควร ในการรักษาศีลนี้ หากเรามีศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในเรื่อง “ศรัทธา” ดังที่ได้กล่าวในข้างต้น ย่อมเป็นเครื่องยืนยันความมั่นใจได้ว่า เราจะได้อัตภาพความเป็นมนุษย์ ไม่พิกลพิการในการเดินทางข้ามห้วงวัฏสงสาร เพราะเหตุที่เราได้ประกอบไว้อย่างดีแล้ว นอกจากนี้ยังพึงศึกษาถึงวิธีประเมินความบริสุทธิ์ของศีลในแต่ละข้อเพิ่มเติม  นี้เป็นคุณธรรมประการที่ ๓ ที่ควรได้รับการประเมิน

            สมาธิ...คือ ความตั้งมั่นแห่งจิตไปตามลำดับ (เอกัคคตาจิต) เป็นเสมือนฐานรากและเสาเข็มที่จะรองรับปัญญาในการตรัสรู้ธรรม หากขาดเสียซึ่งสมาธิที่ถูกต้อง (สัมมาสมาธิ) แล้ว ยากเหลือเกินที่จะได้มาซึ่งปัญญาในการตรัสรู้ธรรม สัมมาสมาธิ ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก ท่านหมายเอา ฌานสมาบัติ หรือ ฌาน ๔ นั่นเอง ซึ่งใน “สามัญญสูตร” พระพุทธองค์ยังได้ตรัสลงใน “สามัญญผลเบื้องกลาง” อีกด้วย แต่สำหรับบางท่านที่ยังไปไม่ถึงในระดับดังกล่าว ก็อย่าเพิ่งตัดพ้อตนเองไป ขอให้หมั่นตรวจสอบดูว่า เราได้ประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และทำได้อย่างถูกต้องถูกวิธีหรือไม่ ถ้าเราทำได้อย่างสม่ำเสมอและถูกวิธี ผลแห่งความพยายามนั้นย่อมนำเราไปสู่ผลที่น่าพึงพอใจอย่างแน่นอน นี้เป็นคุณธรรมประการที่ ๔ ที่ควรได้รับการประเมิน

           ปัญญา...คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม โดยทั่วไปในคัมภีร์พระไตรปิฎกมักจะกล่าวถึง “ปัญญา” ว่าคือ การมองเห็นอริยสัจ ๔ ซึ่งนับเป็นขั้นสูงสุดของการบรรลุธรรม อันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น (วิมุตติ) นั่นเอง สำหรับในเรื่องของปัญญานี้เป็นขั้นต่อจาก “สมาธิ” ที่กล่าวในข้างต้น หากเรายังทำสมาธิได้ยังไม่สมบูรณ์พอ ก็ยากที่ปัญญาอันยิ่งจะบังเกิดขึ้น แต่ถึงกระนั้น ก็อย่าเพิ่งด่วนเลิกล้มความตั้งใจไปเสีย เพราะ “ปัญญา” ในระดับที่รองลงมายังมีอยู่ กล่าวคือ ปัญญา ๓ ได้แก่ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการขบคิดพิจารณา (จินตามยปัญญา) จากการศึกษาเล่าเรียนได้ยินได้ฟัง (สุตมยปัญญา) จากการทำภาวนาเข้าถึงฌานสมบัติ (ภาวนามยปัญญา) ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ กระบวนการในการศึกษาธรรมในระดับต่าง ๆ แม้ในระดับของ “ภาวนามยปัญญา” เราต้องมีผลของ “สมาธิ” หรือ “ฌานสมบัติ” แต่สำหรับ “จินตามยปัญญา” และ “สุตมยปัญญา” เราสามารถลงปฏิบัติในทั้งที กล่าวคือ เราได้ตั้งใจศึกษาธรรมและไตร่ตรองพิจารณาเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้มากน้อยเพียงใด เป็นสิ่งที่เราควรประเมินเป็นประการที่ ๕

           ดังนั้นในวาระใกล้วันขึ้นปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงควรที่พุทธบริษัทอย่างพวกเราจะได้มีโอกาสในการวัดผล “คุณธรรม” ในปีที่ผ่านมา ด้วยการประเมิน ศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น เมื่อเราประเมินคุณธรรมในตัวได้ดังนี้ ก็จะเป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติและฝึกฝนอบรมตนเองต่อไป หากในปีที่ผ่านมายังทำได้ไม่สมบูรณ์ ในปีต่อไปจะได้ทำให้สมบูรณ์ขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณธรรมของเราก็จะได้รับการปรับปรุงในสมบูรณ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในทุก ๆ ปี นับเป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่ชิ้นใหญ่ที่เราจะมอบให้กับตัวของเราเอง และหากเราสามารถยกระดับเป็นการประเมินในระดับ “เดือน” หรือ “สัปดาห์” หรือ “วัน” ได้แล้ว นับว่าเป็นการพัฒนาที่ดีเยี่ยมของเราสืบต่อไป อนุโมทนากับทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
___________________________
*ศึกษารายละเอียด "องค์แห่งศีล" ได้ที่ อรรถกถา ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค ญาณกถา สีลมยญาณนิทเทส

6 ความคิดเห็น:

  1. 🙏🙏🙏กราบอนุโมทนาสาธุเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอกราบนมัสการและขอกราบอนุโมทนาบุญ สาธุ

    ตอบลบ
  3. กราบอนุโมทานา
    สาธุ สาธุ สาธุ

    ตอบลบ
  4. กราบอนุโมทนาบุญเจ้าค่ะ

    ตอบลบ
  5. สาธุค่ะ
    ต้องนำมาประเมินตนเอง และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ตนเองดีขึ้นค่ะ

    ตอบลบ

welcome everyone to เล่าเรื่องตามกาลเวลา