ร่วมด้วยช่วยกันแชร์เป็นธรรมทาน

วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สิ่งที่ต้องสะสมคือบุญกุศล(๑) : บุญกฐิน มหากาลทาน

 

บุญกฐิน มหากาลทาน


บุญกฐิน ถือเป็นบุญใหญ่ ที่มีอานิสงส์มากเพราะเป็นบุญที่ทำได้ยาก และมีข้อจำกัดบางประการอย่างมากมาย อีกทั้งการทำบุญทอดกฐินก็จะมีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จะต้องมีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระธรรมคำสอน และมีพระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติตาม ถึงจะทำบุญทอดกฐินได้ ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยากมากๆ เพราะในบางกัปไม่มีการทอดกฐินเลย เนื่องจากไม่มีการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากเราพลาดไปเกิดในยุคนั้นเข้า เราก็ไม่มีโอกาสทอดกฐิน
 
นอกจากนี้ การทำบุญกฐินยังมีความยากและข้อจำกัดอีกหลายประการ ซึ่งบัณฑิตนักปราชญ์ได้รวบรวมเป็นประเด็นเอาไว้ทั้งหมด ๗ ประการ เพื่อเราจะได้เห็นคุณค่าและปลื้มปีติว่า เราคือผู้โชคดีที่ได้มาทำบุญนี้
 
ประการที่ ๑ บุญกฐินเป็นบุญพิเศษ เป็นกาลทาน ทำได้แค่ปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น คือ ภายใน ๑ เดือน นับจากวันออกพรรษา
 
ประการที่ ๒ เป็นบุญที่ถูกจำกัดด้วยประเภทของทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายแบบเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอื่นๆ ไม่ได้
 
ประการที่ ๓ บุญจากการทอดกฐิน เป็นบุญที่ถูกจำกัดด้วยคราว คือ ใน ๑ ปี แต่ละวัดจะสามารถรับกฐินและกรานกฐินได้ปีละครั้งเท่านั้น
 
ประการที่ ๔ วัดที่จะทอดกฐินได้นั้น ต้องมีพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบอย่างน้อย ๕ รูป ถ้ามีพระจำพรรษาแค่ ๑-๔ รูป หรือจำพรรษาไม่ครบ หรือไม่มีพระจำพรรษาที่วัดนั้นเลย เราก็จะทำบุญทอดกฐินไม่ได้
 
ประการที่ ๕ ในวันทอดกฐิน พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม หรือรับผ้าจีวรสำเร็จรูปที่ทายกทายิกาตัดเย็บย้อมเสร็จเรียบร้อยแล้วถวายมาก็ได้ เมื่อได้ผ้าจีวรมาแล้ว ก็จะต้องกรานกฐินให้แล้วเสร็จภายในวันนั้น เมื่อพระผู้รับกฐินได้ทำการกรานกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงจะถือว่าเสร็จพิธีกรานกฐินอย่างบริบูรณ์
 
ประการที่ ๖ การทำบุญทอดกฐินเป็นบุญที่ถูกจำกัดด้วยไทยธรรม คือ ของที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในจำนวนไตรจีวรเท่านั้น สมมติเราถวายไปทั้งไตร ท่านก็ต้องเลือกเอาผืนเดียว นอกนั้นจัดเป็นบริวารกฐินทั้งหมด ส่วนมากมักจะเลือกเอาสังฆาฏิง่ายๆ ไปถึงพาดได้ อธิษฐานได้
 
ประการที่ ๗ การทำบุญทอดกฐินและการถวายผ้ากฐิน ถือว่าเป็นบุญแบบสุดๆ เพราะเป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงดำริขึ้นด้วยพระองค์เอง คือ ทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้ถวายแด่ภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือน ซึ่งผิดกับการทำทานอย่างอื่น ที่ต้องมีทายกทายิกาทูลขอกับพระองค์ก่อน เช่น การถวายผ้าอาบน้ำฝน เกิดจากการที่มหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้น
 
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การทอดกฐินเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นการที่ลูกๆ จะตัดสินใจทำบุญทอดกฐินนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดาๆ แต่เป็นสิ่งที่เหนือธรรมดา เพราะเป็นบุญที่หาทำได้ยากยิ่ง
 
พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ 

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

  • พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย จากชุดหนังสือ สิ่งที่ต้องสะสมคือบุญกุศล เล่ม ๑  หน้าที่ ๒๑๒-๑๒๓ หัวข้อ "บุญกฐิน มหากาลทาน"
  • ภาพจากบล็อกภาพดี  ๐๗๒

สิ่งที่ต้องสะสมคือบุญกุศล (๑): ทำความดีตลอดพรรษา


การทำความดีตลอดพรรษา

เราได้ตั้งมโนปณิธานเอาไว้ว่า ภายในพรรษานี้ สิ่งอะไรที่เป็นทางมาแห่งบุญกุศล เราจะทุ่มเทชีวิตจิตใจตักตวงให้ได้บุญกุศลให้มากๆ เพื่อให้เป็นกำลังแห่งการบรรลุธรรมของเรา
 
วันแรกของการเข้าพรรษา ถ้าเราเริ่มต้นด้วยจิตที่เป็นกุศล ไม่ให้สิ่งที่เป็นบาปอกุศลเข้ามาสิงจิตได้ ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ภายในพรรษานี้จะเป็นพรรษาแห่งความสมปรารถนาของเรา ที่เราได้ตั้งใจกันมายาวนาน
 
ในช่วงเข้าพรรษา ตลอด ๓ เดือน หลวงพ่อว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้ถือโอกาสนี้สั่งสมบุญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป โดยปฏิบัติดังนี้
 
๑. ให้จำพรรษาในวงกาย การจำพรรษาของพวกเราซึ่งไม่ใช่พระภิกษุสามเณรนั้น หลวงพ่อได้เคยบอกไว้คร่าวๆ ว่า ให้เรากำหนดว่า เราจะจำพรรษาภายในวงกายของเรา กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก ในปริมณฑลของใจเรา คือ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัวที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ในทุกกิจกรรม เท่าที่เราจะทำได้ เพราะว่าเรายังต้องทำมาหากิน ศึกษาเล่าเรียน ยังต้องครองเรือนอยู่ แต่เราก็จะพยายามทำให้ได้
 
ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัวของเรา ให้ทำความรู้สึกว่า เราเป็นพระ พระเป็นเรา พยายามทำให้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกวันเลย อย่างนี้จึงจะเป็นทางมาแห่งบุญกุศลทั้งหลาย กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็จะเกิด เกิดขึ้นแล้วก็จะเจริญรุ่งเรือง นำเราเข้าไปถึงพระรัตนตรัยในตัวของเราได้
 
๒. ช่วยกันทำความสะอาดบ้านของเรา ให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ น่าประพฤติธรรมตามส่วนของคฤหัสถ์
 
โดยทำความสะอาดห้องพระเป็นห้องแรกก่อน แล้วก็ตามด้วยห้องอื่นๆ ภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องพระซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของครอบครัว จะต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำความสะอาด ให้สถานที่นั้นเหมาะสมที่จะเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา คือ พุทธปฏิมากรซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ อย่าให้มีหยากเยื่อ หยากไย่ ฝุ่นละอองต่างๆ
 
ถ้าห้องพระสะอาด เทวดาอารักษ์ทั้งหลายเขาจะได้มาเคารพกราบไหว้บูชา เมื่อเทวดามากราบไหว้บูชา ก็จะตามรักษาเรา สิริมงคลก็จะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์สมบัติทั้งหลาย
 

๓. ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีภายในบ้านด้วยรอยยิ้มและปิยวาจา พูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ให้เป็นที่บันเทิงใจ อย่าให้มีคำหยาบ บรรยากาศดีๆ ก็จะได้เกิดขึ้นภายในบ้านของเรา เทวดาจะได้อนุโมทนาสาธุการ
 
๔.  ชักชวนกันประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้งบ้านตลอดพรรษา
 
๕. คุณธรรม ๑ ข้อ ที่เราอยากจะฝึกเพิ่มเติม
 
เช่น สมมติว่า เราจะเพิ่มคุณธรรมว่า พรรษานี้เราจะไม่เป็นคนมักโกรธ เพราะปกติเป็นคนโกรธง่าย หายเร็ว พรรษานี้เราก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า เราจะมีสติ จะไม่ให้ความโกรธ ความฉุนเฉียว เจ้าอารมณ์ เกิดขึ้นตลอด ๑ พรรษา ก็ค่อยๆ ลด ละ เลิก เอาพรรษาละ ๑ ข้อ
 
เราจะเพิ่มคุณธรรมข้อไหนก็ได้นะ แล้วก็ตั้งใจมั่นรักษาให้ได้ตลอดทั้งพรรษา ออกพรรษาแล้วเราตามระลึกนึกถึงย้อนหลัง จะได้มีความปลื้มปีติยินดีในการกระทำของเราว่า เออ คนอย่างเราสามารถสร้างคุณธรรมให้บังเกิดขึ้นได้ ความปีติปราโมทย์ใจก็จะเกิดขึ้น จะนำมาซึ่งการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว เพราะฉะนั้นเริ่มกันวันนี้เลยนะ
 
พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อธัมมชโย : ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

  • ธรรมะเทศนา โดยหลวงพ่อธัมมชโย จากหนังสือชุด สิ่งที่ต้องสะสมคือบุญกุศล เล่ม ๑ : "ทำความดีตลอดพรรษา หน้าที่ ๒๐๙-๒๑๑ 
  • ภาพจาก บล็อกภาพดีๆ ๐๗๒

การแต่งกายไปวัดมีความสำคัญอย่างไร

 

แต่งกายไปวัดอย่างไรให้ดูดี สวยสง่า เหมาะสม

วัด คือ แหล่งการศึกษาที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา มีการอบรมและฝึกฝน ปฏิบัติตน ปฏิบัติธรรม ทำทาน รักษาศีล ของคณะสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา และอาสาสมัครที่ช่วยเหลืองานวัด และบุคคลทั่วไปที่ไปวัดทำบุญ และฟังธรรม  วัดจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สงบ เมื่ออยู่วัดจึงควรระมัดระวัง กาย วาจา ใจ ให้ผ่องใส สะอาด บริสุทธิ์ พูด คิด  ทำ แต่สิ่งที่ดี และเหมาะสม เป็นภาพที่น่าเลื่อมใส และเกิดศรัทธา

เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมไปวัดทำบุญ เพื่อทำให้จิตใจมีความสุข และผ่องใส นอกจากเตรียมอาหารคาวหวาน อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่เหมาะสมในการถวายให้วัดนำไปใช้ให้เกิดประโยน์แล้ว การแต่งกายไปวัด ชุดที่เหมาะสมในการไปวัด นอกจากการแต่งตัวที่สวยงาม ดูดีแล้ว ยังจะต้องถูกกาลเทศะด้วย เพราะวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราชาวพุทธเวลาไปวัด หรือไปร่วมงานบุญต่าง ๆ ควรแต่งกายด้วยชุดขาว ๆ ที่สุภาพเรียบร้อยไปวัด

การสวมใส่ชุดขาว ๆ ไปวัดจะมีอานิสงส์ดังต่อไปนี้ คือ

๑. ชุดขาวจะทำให้เราเกิดจิตสำนึกในการเป็นอุบาสกอุบาสิกา ผู้นั่งใกล้ต่อพระรัตนตรัยมากขึ้น ทำให้เกิดความสำรวมระมัดระวังกิริยามารยาทไปโดยอัตโนมัติ

๒. ทำให้จิตใจสงบ สะอาด ผ่องใส เป็นการเตรียมตัวก่อนการฟังธรรม ปฏิบัติธรรม เป็นเหตุให้เข้าถึงธรรมได้ง่าย

๓. ประหยัด และเกิดความเสมอภาค ไม่มีการประกวดประชันกันว่า ใครรวย ใครจน ใครสวย ใครหล่อ พอเข้าวัดทุกคนเสมอภาคเหมือนกันหมดในการสร้างบารมี สร้างความดี

๔. ทำให้สร้างบุญได้เต็มที่ เพราะใส่ชุดขาวจะทำให้ไปเที่ยวที่อื่นได้น้อยลง

๕. ดูแล้วงดงามตา เป็นต้นบุญต้นแบบ เป็นที่เลื่อมใสแก่มหาชนทั้งหลาย
 เทศนาธรรม โดย หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลและรูปภาพ

  • ธรรมเทศนาโดย โดย หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) จากหนังสือ ชุด มหัศจรรย์วัดพระ "อานิสงส์การใส่ชุดขาวไปวัด" หน้าที่ 28-29